เข้าใจความขัดแย้ง

ความขัดแย้ง..เป็นเรื่องที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่มักเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ในระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร ทั้งภายในและภายนอกประเทศ การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงมานาน โดยมีแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายตามยุคสมัย
การจัดการความขัดแย้งเป็นเรื่องเราทุกคนควรเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจและสามารถหาทางแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจมุมมองความขัดแย้งที่แตกต่างกัน อันนำไปสู่การจัดการที่แตกต่างกัน
กลุ่มแรกมองว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งเลวร้ายในช่วงทศวรรษ 1930-1940แนวความคิดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ได้แก่ แนวคิดแบบดั้งเดิม (Traditional View) มองว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งเลวร้าย เป็นความรุนแรง เป็นการทำลายล้าง ไม่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร จึงควรหลีกเลี่ยงหรือกำจัดให้หมดไป นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าความขัดแย้งเป็นผลมาจากความผิดพลาดหรือความล้มเหลวในการทำงานของคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้
กลุ่มที่สองมองว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ถึงกลางทศวรรษ 1970 แนวความคิดที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ แนวคิดเชิงพฤติกรรม (Behavioral View) กลุ่มนี้เห็นว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในทุกกลุ่มและทุกองค์กร เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญ ความขัดแย้งนี้ไม่จำเป็นต้องเลวร้ายเสมอไป เพราะอาจแปรเปลี่ยนเป็นพลังทางบวกที่ส่งเสริมการทำงานของกลุ่มได้ เมื่อความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากตามธรรมชาติ จึงควรยอมรับความขัดแย้ง และหาทางเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์และส่งเสริมการปฎิบัติงานของกลุ่มแทน
กลุ่มสุดท้ายมองว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็น ตั้งแต่ทศวรรษ 1980-ปัจจุบัน เกิดกลุ่มแนวคิดเชิงปฎิสัมพันธ์ (Interactionist View) ขึ้น เป็นแนวคิดที่เสนอว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี และความขัดแย้งบางอย่างอาจจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะกลุ่มนี้มองว่า ความขัดแย้งจะช่วยทำให้เกิดความคิดที่แตกต่าง ส่งผลให้เกิดการเสนอความคิดเห็นใหม่ ๆ ในการทำงาน กลุ่มที่ปราศจากความขัดแย้งจะหยุดอยู่กับที่ เฉื่อยชา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดการพัฒนา แต่มีเงื่อนไขว่าความขัดแย้งนั้นต้องอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้
แนวคิดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความขัดแย้งในตัวมันเองไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป หากเราเข้าใจความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในบางกรณีอาจกลายเป็นความจำเป็นที่ต้องมีด้วยซ้ำ ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่เราทุกคนควรตระหนักคือ เราไม่จำเป็นต้องมุ่งหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ควรใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ผลของความขัดแย้งจะเป็นพลังสร้างสรรค์หรือทำลาย ขึ้นอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ผู้นำองค์กร ผู้บริหาร หรือหัวหน้างานทุกระดับ จะมีความสามารถในการจัดการกับความขัดแย้งและใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งอย่างชาญฉลาดเพียงใด ในเรื่องนี้เราจะได้พูดคุยกันต่อไป
admin
เผยแพร่: 
งานวันนี้
เมื่อ: 
2008-05-03