มหาวิทยาลัยท้องถิ่น กทม.

ในรัฐธรรมนูญมาตรา 289 วรรคสองบัญญัติไว้ว่าldquo;องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรมและการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐhellip;rdquo; และในวรรคสาม ldquo;การจัดการศึกษาอบรมภายในท้องถิ่นตามวรรคสอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นด้วยrdquo;
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้บัญญัติเรื่องการบริหารและการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไว้ในมาตรา 41 ldquo;องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นrdquo;
การที่ผมคิดถึงกรุงเทพฯ ขึ้นมา มิใช่ว่าทางกรุงเทพมหานคร ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ไม่ได้จัดการศึกษาในท้องถิ่น ปัจจุบันนี้เรามีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวน 433 โรง แต่สิ่งที่ผมคิดคือ เราน่าจะตั้ง ldquo;มหาวิทยาลัยrdquo; สังกัดกรุงเทพมหานครขึ้นมาสัก 1 แห่ง จุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ldquo;กรุงเทพฯrdquo; โดยเฉพาะ อันจะยังประโยชน์ในการแก้ปัญหาและพัฒนากรุงเทพฯ ได้อย่างบูรณาการครบถ้วนทุกด้าน และเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประเด็น ldquo;มหาวิทยาลัย กทม.rdquo; นี้ผมเคยเสนอไว้ ในหนังสือ กรุงเทพที่ผมฝัน ครั้งที่ 1 พ.ศ.2546 เรื่อง สถาปนา ม.ท้องถิ่น เพื่อ ท้องถิ่น กทม.
ปัจจุบัน แม้ว่ากรุงเทพฯ อาจเรียกได้ว่าเป็น ldquo;ศูนย์รวมrdquo; สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศ เป็นศูนย์รวมมันสมองของชาติ โดยมีมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ถึง 48 แห่ง (มหาวิทยาลัยของรัฐ 17 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 31 แห่ง) และวิทยาลัยอีก 9 แห่ง แต่สถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งศึกษาค้นคว้าวิจัยในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับกรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของเมืองกรุงเทพฯ โดยเฉพาะยังไม่มี
ผมจึงเสนอว่า กรุงเทพมหานครควรตั้งมหาวิทยาลัยท้องถิ่นสัก 1 แห่ง อาจใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ หรือชื่ออื่นที่สะท้อนความหมายของกรุงเทพฯ-เมืองหลวง แต่ไม่ซ้ำกับชื่อมหาวิทยาลัยอื่นที่มีอยู่แล้ว
วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มุ่งหมายให้ทำหน้าที่เป็น แหล่งสร้างผู้เชี่ยวชาญ ด้านกรุงเทพฯ และเมืองหลวง โดยเปิดรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยทั่วไป แต่ให้น้ำหนักการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับกรุงเทพฯและเน้นการทำวิจัยอย่างเจาะลึกในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ครอบคลุมทุกพื้นที่
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นเสมือน แหล่งมันสมองของเมืองหลวง โดยเป็นแหล่งรวมของอาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัย ที่ทำหน้าที่เป็น ldquo;คลังสมองrdquo; (think tank) ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ความเข้าใจในเรื่องเมืองหลวงและปริมณฑล เพื่อให้นโยบายการพัฒนากรุงเทพมหานครทุก ๆ เรื่องมีงานวิจัยรองรับ และทำหน้าที่เป็นผู้สร้างองค์ความรู้ในท้องถิ่นของกรุงเทพฯ อย่างบูรณาการ มุ่งการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืน
ตัวอย่างหลักสูตรหรือวิชาพัฒนาความเป็นเมือง เช่น การพัฒนาการสาธารณะสำหรับเมือง การวางผังเมือง สถาปัตยกรรมและวิศวกรรมการออกแบบพัฒนาเมือง การพัฒนาโครงสร้างและกายภาพของเมือง การจัดการองค์กรไม่แสวงหากำไรสำหรับการพัฒนาเมือง การพัฒนาเศรษฐศาสตร์เมือง การสาธารณสุขสำหรับเมือง การออกแบบชุมชนเมือง การพัฒนาและแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่และมลพิษของเมือง การพัฒนากลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมเมือง การสังคมสงเคราะห์สำหรับคนเมือง การจัดการภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของเมือง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในทางปฏิบัติจริง ทาง กทม. อาจติดปัญหาเรื่องสถานที่ งบประมาณ และการบริหารจัดการ เนื่องจากการสร้างมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องใหญ่ การลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่อาจไม่คุ้ม ตลอดจนการจัดระบบการเรียนการสอนขึ้นใหม่ที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยอื่นใน กทม. ที่เปิดทำการสอนอยู่แล้ว อาจเป็นไปไม่ง่ายนักในทางปฏิบัติ
ดังนั้นเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและบริหาร เสนอว่า มหาวิทยาลัยของ กทม. อาจสร้างเครือข่ายร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นในกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็น ldquo;มหาวิทยาลัยเงาrdquo; โดยหลักวิชาในการเรียนการสอนให้นักศึกษา ldquo;แฝงตัวrdquo; เรียนร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยของ กทม. ได้คัดเลือกแล้วว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญหรือเป็นสุดยอดในสาขาวิชานั้นอย่างแท้จริง เพื่อให้ผู้เรียนได้สิ่งที่ดีที่สุดในทุก ๆ วิชาตลอดหลักสูตรที่จัดไว้
ตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่เรียนวิชาบริหารงบประมาณ ให้เรียนร่วมกับวิชาเดียวกันที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย ก. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้มากที่สุดในกรุงเทพฯ หรือการเรียนวิชาวางผังเมือง ให้เรียนที่มหาวิทยาลัย ข. ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความชำนาญเป็นเลิศในด้านดังกล่าวเหนือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ใน กทม. เพียงแต่ให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่ง กทม. เน้นทำงานวิจัยในทุกวิชาที่เรียน โดยศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่นกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ เป็นต้น สำหรับสถานที่ของมหาวิทยาลัยแห่ง กทม. นั้น ควรมีสถานที่กลางซึ่งเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมของนักศึกษา โดยอาจจัดให้มีอาคารเรียนและศูนย์วิจัย 1 อาคาร อาคารสำหรับประชุม สัมมนา และห้องสมุด 1 อาคาร ที่สำคัญควรเป็นห้องสมุดที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับกรุงเทพฯ และเมืองหลวงของทุกประเทศทั่วโลกที่ทันสมัยที่สุด
แนวคิดการสร้างมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแห่ง กทม. ที่ผมเสนอนี้ เป็นความจำเป็นที่ควรมีการดำเนินการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยผ่านการคิดอย่างรอบคอบ และมีการวางระบบดำเนินการที่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งผลิตกำลังคนและองค์ความรู้สำหรับการพัฒนากรุงเทพฯ ไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
* นำมาจากนิตยสารการศึกษาวันนี้ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน- วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2551
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-04-26