ประเมินผลวิจัยแบบ REF... กระแสที่ต้องจับตามอง

ปรากฏการณ์ในแวดวงด้านการวิจัยที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักคือ เมื่อเดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา นักวิชาการจำนวนมากในสหราชอาณาจักร ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวคิดที่จะนำระบบการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยที่เรียกว่าResearch Excellence Framework (REF) เข้ามาแทนที่ระบบการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยแบบ Research Assessment Exercise (RAE) ซึ่งการประเมินผลการวิจัยในระบบ REF จะเน้นการวัดคุณภาพงานวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยพิจารณาจากจำนวนครั้งที่ผลงานวิจัยได้รับการอ้างอิงหรือตีพิมพ์ ในขณะที่การประเมินผลวิจัยในระบบ RAE จะประเมินคุณภาพงานวิจัย โดยให้กลุ่มนักวิชาการในสาขาเดียวกันร่วมวิพากษ์ผลงานวิจัย (peer review)
ประเด็นที่นักวิชาการในสหราชอาณาจักรได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเป็นห่วงต่อการนำระบบ REF มาใช้ว่า อาจเกิดปัญหาในหลายประการหากไม่ดำเนินการอย่างระมัดระวังและรอบคอบ อาทิ
นักวิชาการบางกลุ่มมุ่งให้งานวิจัยของตนได้ถูกอ้างอิงมากที่สุด และกีดกันนักวิจัยต่างกลุ่ม อาจจะทำให้นักวิจัยบางกลุ่มพลิกแพลงการใช้ประโยชน์จากการอ้างอิงระบบ REF เพื่อหวังผลให้งานวิจัยของตนได้รับการอ้างอิงให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างที่อาจเป็นไปได้เช่น นักวิจัยอาวุโส อาจกีดกันไม่ให้นักศึกษาปริญญาเอกมีชื่อเป็นผู้ร่วมวิจัย เพื่อให้ชื่อของนักวิจัยอาวุโสเหล่าถูกอ้างถึงเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นการบั่นทอนความใฝ่ฝันและความทะเยอทะยานของนักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยังเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ยังไม่โผล่พ้นเหนือน้ำให้ได้เห็นถึงความเสียหายที่เริ่มก่อตัวและส่งผลกระทบต่อวงการด้านการวิจัย โดยอาจเกิดปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไขตามมาได้ หากไม่ได้ระมัดระวังในการนำระบบ REF มาใช้
งานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงอาจไม่มีคุณภาพ ผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงไม่ได้หมายความว่าเป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพราะผลงานวิจัยที่ไม่มีคุณภาพมีโอกาสได้รับการอ้างอิงเช่นเดียวกัน ผลงานวิจัยบางชิ้นได้รับการอ้างอิงเนื่องจากความน่าตื่นเต้นของผลวิจัย แต่อาจไม่เกี่ยวกับกับคุณภาพของการวิจัยเลยก็ได้
งานวิจัยขาดความร่วมมือวิจัยอย่างเป็นสหวิทยาการ แม้สภาจัดสรรงบประมาณอุดมศึกษาแห่งอังกฤษ (Higher Education Funding Council for England: HEFCE) จะกล่าวว่า รางวัลสำคัญของนักวิจัยคือ การที่ผลงานวิจัยได้รับการยกย่องจากกลุ่มนักวิจัยและได้รับการอ้างอิงถึงอย่างกว้างขวางจากบรรดานักวิจัยทั่วโลก แต่การเล่นเกมหวังผลระยะสั้นไม่ได้มุ่งนำไปสู่สิ่งที่ว่านี้ เพราะปัจจุบันมีชมรมที่เรียกว่า ldquo;ชมรมอ้างอิงrdquo; (Citation clubs) เป็นกลุ่มนักวิจัยในแวดวงสาขาเดียวกัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะอ้างอิงเฉพาะผลงานวิจัยในกลุ่มของตนเป็นหลัก และตีพิมพ์ผลงานที่จะเพิ่มชื่อเสียงให้กับกลุ่มของตนไปสู่ระดับโลก ซึ่งเป็นการเล่นเกมที่บ่อนทำลายคุณภาพงานวิจัย รวมถึงการเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือและการวิจัยแบบสหวิทยาการ ชมรมดังกล่าวเริ่มทำงานแล้วในสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการจอมโกงบางคนแนะนำวิธีเพิ่มคุณภาพให้งานวิจัย โดยแสวงหาประโยชน์จากระบบประเมินคุณภาพงานวิจัยแบบ REF ดังนี้
วิธีแรก อย่าอ้างอิงผลงานของคนอื่น ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเราก็ตามเพราะจะทำให้งานวิจัยของคนอื่นได้รับการอ้างอิงเพิ่มขึ้นและได้เงินทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้น
วิธีที่สอง อย่าตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารที่ได้รับการกล่าวถึงน้อยและวารสารประเภทเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากจะทำให้การอ้างอิงถึงงานของตนเองลดลง แต่พยายามแสวงหาทางตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารที่มีชื่อเสียง
วิธีที่สาม อย่าทำการวิจัยในสาขาที่ฐานข้อมูล Thomson Scientific Database ครอบคลุมไม่ถึง เพราะจะทำให้ไม่มีใครเห็นผลงานวิจัยนั้น
วิธีที่สี่ อย่าทำให้ผลการวิจัยขัดแย้งกับสมมติฐาน เพราะจะไม่มีใครนำผลงานวิจัยดังกล่าวไปอ้างอิง
วิธีที่ห้า เข้าร่วมชมรมอ้างอิง เพื่อให้คนที่เข้าร่วมมีการอ้างอิงงานวิจัยของกันและกันให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามสรรหาวิธีอื่นที่ทำให้งานวิจัยได้รับการอ้างอิงมากที่สุด จากพรรคพวกหรือการร่วมมือกับบางกลุ่มคนที่ต่างมีผลประโยชน์ตอบแทน
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า ระบบการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยแบบ REF มาใช้ มีผลดีในหลายประการ แต่หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง อาจถูกบางกลุ่มคนที่ต้องการแสวงหาประโยชน์เข้ามาใช้ประโยชน์ในทางไม่เหมาะสม และจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างร้ายแรงต่อระบบการวิจัยในสาขาต่าง ๆ ทั่วโลก
ส่วนระบบการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยแบบ REA ldquo;วิจารณ์กลุ่มแบบผิวเผินเป็นวิธีที่น่าจับตามองrdquo; เพราะอาจส่งผลในเชิงลบต่อคุณภาพงานวิจัยหากให้กลุ่มนักวิชาการในสาขาเดียวกันร่วมวิพากษ์ผลงานวิจัยเพื่อให้ผ่านไปได้ โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่คุณภาพอย่างเข้มข้น อีกทั้งการทำ peer review โดยกลุ่มนักวิชาการในสาขาเดียวกันร่วมวิพากษ์ผลงานวิจัยนั้น ก็อาจมีส่วนปิดกันการวิจัยแบบสหวิทยาการได้ กล่าวคือ การให้คนในสาขาวิชาเดียวกันมาวิจารณ์อาจไม่เพียงพอ แต่ควรมีคนนอกศาสตร์เข้ามาให้ความเห็น โดยอาจกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมในการให้ความเห็น อันเป็นการเปิดมุมมองที่กว้างขึ้น และมองอย่างสหวิทยาการ
ผมเห็นว่าจึงไม่น่าจะมีวิธีไหนที่เหมาะสมและครอบคลุมแบบครอบจักรวาลในทุกศาสตร์สาขาได้ แต่ควรมีการประยุกต์วิธีการวัดคุณภาพที่เหมาะสมและหลากหลายเกณฑ์ร่วมกัน โดยเกณฑ์วัดสำคัญต้องมุ่งที่การพัฒนาคุณภาพด้านองค์ความรู้ในระดับลึกถึงพรมแดนความรู้ การวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มิใช่อยู่บนหอคอยงาช้าง การวิจัยที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนางานวิชาการอย่างสหวิทยาการ โดยบูรณาการจากศาสตร์สาขาอื่นเข้าร่วม โดยไม่ใช่ทำกันเฉพาะในกลุ่มสาขาเดียวกันเท่านั้น การวิจัยที่เน้นการประยุกต์ต่อยอด โดยมิใช่แค่การเลียนแบบโดยไม่ได้เข้าใจและปรับให้เข้ากับบริบทแวดล้อมใหม่ที่แตกต่าง การวิจัยที่มุ่งให้เกียรติในการอ้างอิงทางปัญญาอย่างถูกต้อง จึงจะเป็นการประเมินวัดคุณภาพงานวิจัยที่แท้จริง
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2008-04-23