ใช้ CCTV เพื่อแก้ปัญหากรุงเทพฯ แบบบูรณาการ



* ที่มาของภาพ -http://www.cctv.in.th/images/introl_cctv.gif
หนึ่งในนโยบายการบริหารงานกรุงเทพมหานครทางด้านความปลอดภัยของผู้ว่าฯอภิรักษ์ ในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมาคือ การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดหรือ CCTV ในบางพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยี CCTV เข้ามาใช้ในการรักษาความปลอดภัยให้กับคนกรุงเทพฯ ได้ถูกตั้งคำถามในเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการใช้งาน เพราะอันที่จริงแล้ว เทคโนโลยีระบบ CCTV นี้สามารถบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเพียงเรื่องของการสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ระบบกล้อง CCTV ในที่สาธารณะ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเครื่องมือเสริมช่วยสอดส่องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งยังใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประชาชนโดยตรง คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจและและเจ้าหน้าที่เทศกิจชุมชน ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในชุมชนของกรุงเทพมหานคร ระบบดังกล่าวจะช่วยลดภาระงานและจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานตรวจตราความเรียบร้อยในบางพื้นที่ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างของการใช้กล้อง CCTV ในกรุงลอนดอน สามารถลดจำนวนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการจับตัวอาชญากรและผู้กระทำความผิดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
สำหรับกรณีการใช้กล้อง CCTV ในกรุงเทพฯ พบว่าได้มีการติดตั้งกล้องในเขตตัวเมืองชั้นในบริเวณรอบเขตพระราชฐาน (พระบรมมหาราชวัง พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วังสระปทุม วังเลอดิส และวังเทเวศร์) รวม 213 กล้อง ติดตั้งรอบเขตพระราชฐานและสถานที่สำคัญ จำนวน 6 แห่ง (พระที่นั่งอัมพรสถาน วังศุโขทัย วังทวีวัฒนา บ้านอัครพงศ์ปรีชา ร้านศิลปาชีพ 904 และ ศูนย์พัฒนาเด็กทีปังกร) รวม 111 กล้อง นอกจากนี้ยัง ติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ 37 เขต จำนวน 1,023 กล้อง ได้แก่บริเวณทางแยกสัญญาณไฟจราจร สะพานลอยคนเดินข้าม ลานจอดรถยนต์ชั่วคราวสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รอบสนามหลวง รอบซอยอันตราย ท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา คลองแสนแสบ และสถานีขนส่ง
อย่างไรก็ดี การมีกล้องจำนวนมากไม่ได้หมายความโดยตรงว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนชาวกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ เพราะการใช้ประโยชน์จากกล้อง CCTV เหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังจำกัดการใช้งานเพียงในแวดวงของส่วนราชการ และยังถูกใช้เพียงในแง่ของการเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบโดยเชื่อมบูรณาการเข้ากับระบบการแก้ปัญหาเมืองเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องการจราจร เรื่องการเฝ้าระวังและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น
ตัวอย่างของกรุงลอนดอนที่ได้มีการร่วมมือประสานความร่วมมือกันระหว่างเจ้าของธุรกิจ ห้างร้าน และหน่วยงานของรัฐ ในการเชื่อมระบบกล้อง CCTV เข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายในการทำงานอย่างเป็นระบบ ช่วยเพิ่มขอบเขตการดูแลให้กว้างขวางขึ้น เช่นเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับร้าน Mark amp; Spensor ในกรุงลอนดอน ที่ตรวจพบการโจรกรรมของในร้านผ่านกล้องวงจรปิดของร้าน แต่อาชญากรได้ออกจากร้านไปแล้ว ทางร้านจึงได้ประสานกับศูนย์กล้อง CCTV ของกรุงลอนดอนในการสืบค้นอาชญากรคนดังกล่าว และสามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้ในที่สุด หากทางกรุงเทพฯ สามารถจะเชื่อมโยงบูรณาการการใช้กล้อง CCTV ร่วมกับห้างร้าน อาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ หรือศูนย์การค้า บนพื้นฐานของข้อตกลงการรักษาความลับร่วมกัน ก็จะช่วยขยายขอบเขตการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมากขึ้น
นอกจากนั้นแล้ว ระบบกล้อง CCTV ยังสามารถนำไปบูรณาการเข้ากับงานจราจรและระบบขนส่งมวลชนได้ด้วย เช่นในอังกฤษ กล้อง CCTV ที่ติดในบริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน ไม่เพียงจะใช้เพื่อดูความสงบเรียบร้อยของสถานี หากยังถูกใช้เพื่อตรวจสอบปริมาณคนที่ใช้บริการรถไฟใต้ดินเพื่อจัดรถให้บริการได้สอดคล้องกับอุปทานการใช้งาน นอกจากนี้ ระบบกล้อง CCTV ยังเชื่อมเข้ากับการบริหารการจราจรในเมืองดวย โดยตำรวจจราจรสามารถใช้ข้อมูลจากระบบเพื่อควบคุมดูแลการจราจรบนท้องถนน เช่น การตรวจสอบอุบัติเหตุบนท้องถนน การจัดระบบให้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีรถติด เป็นต้น ทำให้สามารถจัดการปัญหาการจราจรในเบื้องต้นและช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างทันถ่วงที นอกจากนี้ ระบบกล้องยังถูกใช้เพื่อตรวจจับรถยนต์ที่วิ่งในเขตเมืองเร็วเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ รวมทั้งใช้เพื่อตรวจทะเบียนรถที่ทำผิดกฎจราจรได้ด้วย
จะเห็นได้ว่า ระบบกล้อง CCTV มีศักยภาพที่จะใช้เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาในเมืองได้หลายเรื่อง หากมีการวางแผนและจัดระบบให้เกิดบูรณาการเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ อย่างเหมาะสม การที่กรุงเทพฯ ได้ลงทุนติดตั้งกล้องไปแล้วหลายจุดนั้นเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องติดตั้งกล้องในจุดอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกมาก แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าปริมาณกล้องคือการใช้ประโยชน์อย่างเชื่อมโยงบูรณาการกันกับระบบอื่น ๆ การใช้กล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัยเป็นเพียงการใช้ประโยชน์ขั้นปฐมภูมิเท่านั้น วิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯ ในการใช้ประโยชน์จากระบบที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจะเป็นตัวบอกถึงความสามารถในการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ


* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2551
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-04-20