แนะกทม.ติด ?ธงเขียวอาคาร? ปลอดภัย ปลอดฝุ่น


* ที่มาของภาพ - http://www.pea.co.th/pean1/images/clean.jpg
ปัญหาฝุ่นละออง และควันพิษใน กทม. ยังคงเป็นปัญหาหนักอก ที่ไม่เคยถูกหยิบยกออกไปจากใจของคนเมืองกรุง เห็นได้จากข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบว่า ในปี พ.ศ. 2550 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เช่น เขม่าควันและฝุ่นละออง รวม 287 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 62 จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 456 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2549 ที่ร้องเรียน 162 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 21 จากทั้งหมด 763 เรื่อง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่นละอองคือ การก่อสร้างตึก อาคารต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่มากขึ้น ผลกระทบจากการก่อสร้างที่ขาดความเข้มงวดในเรื่องการรักษาความสะอาดคือ ฝุ่นผงจากการก่อสร้างฟุ้งกระจายสู่ภายนอก สร้างความรำคาญ และหากสูดดมบ่อย และสะสมในปริมาณมากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอ่อนแอลง และเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ
ที่ผ่านมา กทม.มีมาตรการเร่งด่วนในการลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ โดยการเข้มงวดเรื่องผ้าใบคลุมสถานที่ก่อสร้าง ให้สามารถป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย แต่ยังพบว่า อาคารก่อสร้างหลายแห่งยังไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดอย่างจริงจัง ส่งผลให้ปัญหาฝุ่นละอองฟุ้งกระจายยังคงมีอยู่ทั่วไป
ทางออกหนึ่งที่กทม.สามารถดำเนินการได้คือ การเอาจริงเอาจังกวดขันอาคารก่อสร้างต่าง ๆ อย่างเข้มงวด โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนในการตรวจสอบและเฝ้าระวังอาคารก่อสร้างละเมิดข้อบังคับ ดังแนวทางที่ผมขอเสนอดังนี้
ปักธงเขียวอาคารมาตรฐาน เป็นมาตรการที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า กทม. ได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารก่อสร้างให้มีมาตรฐาน และคำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยทั้งในด้านการสร้างอาคารตามแบบ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรอบ รวมถึงไม่ก่อมลพิษในระหว่างก่อสร้าง สำหรับอาคารที่ผ่านการตรวจและมีการดำเนินงานผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ กรุงเทพมหานครจะปักธงสีเขียว เพื่อแสดงว่า ผ่านการตรวจและรับรองคุณภาพ
ปักป้ายตัวชี้วัดก่อสร้างปลอดภัย เป็นป้ายที่แสดงตัวชี้วัดอาคารก่อสร้างได้มาตรฐาน โดยเฉพาะด้านความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สร้างตรงแบบ มีผ้าใบปิดกั้นกันฝุ่น ล้างล้อรถบรรทุก ฯลฯป้ายจะแสดงว่ากทม. ได้เข้ามาตรวจสอบอาคารเมื่อไร มีมาตรฐานใดที่อาคารก่อสร้างนี้ผ่าน / ไม่ผ่านเกณฑ์ แสดงตารางเปรียบเทียบการตรวจแต่ละครั้ง เพื่อบ่งบอกว่า อาคารก่อสร้างมีการพัฒนา หรือรักษามาตรฐานที่ดีไว้หรือไม่
สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนที่อาศัยและ/หรือประกอบอาชีพบริเวณรอบอาคารก่อสร้าง เป็นปากเป็นเสียง ร่วมตรวจสอบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ และเอกชน โดยตัวแทนเหล่านี้จะมีบทบาทที่หลากหลาย เช่น เข้าร่วมตรวจสอบการก่อสร้างร่วมกับเจ้าหน้าที่กทม. ติดตามตรวจสอบอาคารก่อสร้างเป็นระยะตลอดเวลาของการก่อสร้าง และรับฟังเสียงจากชุมชนโดยรอบ หากมีการละเมิดข้อบังคับ หรือไม่ดำเนินการตามมาตรฐาน ตัวแทนเหล่านี้จะนำเรื่องร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการ เพื่อดำเนินการกับอาคารก่อสร้างที่ละเมิดข้อบังคับต่อไป
การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมากจากภาคประชาชน โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สิ่งสำคัญคือ กรุงเทพมหานครต้องสร้างช่องทางและโอกาสให้กับภาคประชาชน ในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ อันจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างสัมฤทธิ์ผลและเป็นไปอย่างยั่งยืน
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-04-08