แก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนควรมีส่วนหรือไม่?



* ที่มาของภาพ - http://www.joelertola.com/tutorials/knot/img/Rope.jpg
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ถูกจุดเป็นกระแสทางการเมืองในช่วงเวลานี้ หลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ตกอยู่ในสภาวะที่อาจจะถูกยุบพรรค เมื่อกรรมการบริหารของพรรคได้ถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่
ตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 ผู้ที่มีอำนาจในการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ต้องเป็นคณะรัฐมนตรี, ส.ส. (1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่) หรือ ส.ส.และ ส.ว. (1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของทั้งสองสภา) หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอชื่อ (และให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ โดยในวาระที่สาม ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา)
หากมองแบบนี้แล้ว จะเห็นว่า ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาชน ดังนั้น หากฝ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้ริเริ่มขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ได้ก่อนว่า เหตุใดถึงต้องเร่งรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยบอกว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมก่อนหมดวาระ 3 เดือน จึงเป็นคำถามของสังคม ณ เวลานี้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับประเด็นยุบพรรคในขณะนี้หรือประเด็นการเมืองอื่นหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถตอบประเด็นดังกล่าวได้อย่างสมเหตุสมผล จึงยังไม่อาจถือได้ว่ามีความชอบธรรมที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเวลานี้ได้
ในส่วนของภาคประชาชนซึ่งเคยลงประชามติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 ด้วยคะแนน 14 ล้านเสียง พูดอีกทางหนึ่ง ประชาชนได้มีส่วนเกี่ยวข้องและรับรองหลักการในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ดังนั้น หากจะมีการแก้ไขบางหมวด บางมาตรา ควรเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางอ้อม อาทิ ถกเถียง เสนอความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือประชาพิจารณ์ (เกี่ยวกับมาตราที่รัฐบาลขอให้มีการแก้ไข หรือในมาตราที่ภาคประชาชนต้องการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) แล้วนำข้อเสนอดังกล่าวส่งไปให้กระบวนการทางนิติบัญญัติ อันประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อนำข้อคิดเห็นดังกล่าวมาประกอบในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยสรุป รัฐธรรมนูญมีผลเกี่ยวข้องกับทุกคนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้น หากมีการริเริ่มขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ สิ่งที่จะละเลยไม่ได้คือการกลับไปฟังเสียงประชาชนว่าเขาคิดเห็นอย่างไร ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองมีความชอบธรรมทางการเมืองควบคู่ไปด้วย

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-04-07