มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ปฏิเสธการจัดอันดับ

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยสื่อมวลชนในประเทศสหรัฐอเมริกา กระตุ้นให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐฯ ตื่นตัวพัฒนามหาวิทยาลัย และมีหลายมหาวิทยาลัยนำผลการจัดอันดับมาเป็นจุดขาย ตัวอย่างสื่อที่จัดอันดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ได้แก่ นิตยสารบิสิเนสวีค (Business Week) จัดอันดับมหาวิทยาลัยที่สอนสาขาบริหารธุรกิจ (Top Business Schools) สำนักพิมพ์ Kiplinger จัดอันดับมหาวิทยาลัยของรัฐที่ให้ผลคุ้มค่าที่สุดจากเงินที่ผู้เรียนต้องเสียเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา (Kiplingerrsquo;s Best Values in Public Colleges) รวมถึงได้จัดอันดับให้วิทยาลัยเอกชนด้วย หนังสือพิมพ์ U.S. News and World Report จัดอันดับวิทยาลัยที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ (Americanrsquo; s Best Colleges) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยสื่อมวลชน กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและผลประโยชน์ของบางกลุ่มคน ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์มี 3 ประเด็นที่น่าศึกษาเรียนรู้ ดังนี้
อธิการบดีได้รับผลประโยชน์หากมหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของตาราง โดยปกติอธิการบดีมหาวิทยาลัยทำใน 2 บทบาทคือ บริหารจัดการภาพรวมของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันต้องเป็นนักธุรกิจที่ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความนิยมจากลูกค้าหรือนักศึกษา ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของตารางการจัดอันดับ เป็นสิ่งที่เพิ่มความนิยมให้มหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างมาก สภามหาวิทยาลัยบางแห่งในสหรัฐฯ จึงได้จูงใจอธิการบดีด้วยเงินจำนวนหนึ่ง หากสามารถทำให้มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับต้น ๆ จากการจัดอันดับของสื่อบางฉบับ
มหาวิทยาลัยปรับปรุงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องคุณภาพการศึกษาโดยตรง มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับของสื่อ ได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับเกณฑ์ที่สื่อนำมาใช้ในการจัดอันดับ อาทิ บางมหาวิทยาลัยพยายามเพิ่มจำนวนคณะและลดขนาดของชั้นเรียน และบางมหาวิทยาลัยพยายามเพิ่มจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ทั้ง ๆ คุณภาพการจัดการเรียนการสอนไม่ได้ขยับตามเท่าใดนัก
มหาวิทยาลัยเลือกปฏิบัติกับนักศึกษาบางกลุ่มเพื่อผลการจัดอันดับ รายงานจากสถาบันนโยบายด้านการอุดมศึกษา (Institution Higher Education Policy: IHEP) สหรัฐอเมริการะบุว่า การจัดอันดับได้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยเน้นรับเฉพาะนักศึกษาที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้คะแนนสอบ SAT ของนักศึกษาที่นำมาสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นเกณฑ์ ดังนั้น หลายมหาวิทยาลัยจึงจัดสรรทุนการศึกษาจำนวนมาก ให้นักศึกษาที่มีคะแนน SAT สูง เพื่อจูงใจให้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ในขณะที่นักศึกษาที่เข้ามาด้วยคะแนนสอบ SAT ต่ำ หรือนักศึกษายากจนที่ต้องการได้รับเงินสนับสนุนมากกว่ากลับได้รับการดูแลน้อยกว่า
การต่อต้านและทางออกของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ
สภาพการดังกล่าว ส่งผลให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ กว่า 30 แห่ง เริ่มปฏิเสธผลการจัดอันดับของสื่อมวลชนที่มีชื่อเสียง โดยตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่นำผลการจัดอันดับมาใช้ในการโฆษณามหาวิทยาลัย และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแห่งอื่น ๆ ร่วมสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ลอยด์ แทคเกอร์ (Lloyd Thacker) ผู้ก่อตั้ง Education Conservancy องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านการศึกษาเสนอว่า มหาวิทยาลัยใช้การจัดอันดับทำลายซึ่งกันและปัจจุบันประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายการจัดอันดับที่ทำเพื่อธุรกิจ
ดร.ดักลาส เบนเน็ตต์ (Dr.Douglas Bennett) อธิการบดีวิทยาลัยเอิร์ลแฮม (Earlham College) ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า เป้าหมายสำคัญที่มหาวิทยาลัยควรตระหนักคือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และมหาวิทยาลัยควรให้ความสนใจการพัฒนาบนจุดยืนของตนมากกว่าผลการจัดอันดับ
ขณะเดียวกัน มีผู้ที่เห็นด้วยกับการจัดอันดับ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ริชาร์ด เอ็ม ฟรีแลนด์ (Richard M. Freeland) อธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น (Northeastern University) ได้กล่าวว่า แม้การจัดอันดับไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบ แต่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ อย่างน้อยการจัดอันดับสามารถผลักดันมหาวิทยาลัยให้ไปสู่ทิศทางแห่งการสร้างคุณภาพ และคณะกรรมการว่าด้วยอนาคตการอุดมศึกษา (Commission on the Future of Higher Education) แห่งสหรัฐอเมริกาเสนอว่า การจัดอันดับไม่ควรใช้เพียงตัวชี้วัดเดียว เช่น การวัดที่จำนวนนักเรียนที่เข้ามาสมัครเรียน เป็นต้น แต่ควรวัดจากการเรียนรู้ที่นักศึกษาได้รับจากมหาวิทยาลัย
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก่อนหน้านี้ ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รวมทั้ง จัดอันดับแต่ละสาขาวิชาด้วย โดยพิจารณาจากจำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษา ปริมาณงานวิจัย อัตราการมีงานทำตรงสายของบัณฑิต ความพึงพอใจของผู้เรียน และความนิยมซึ่งวัดจากจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนและคะแนนผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยรู้จุดเด่นจุดด้อยของตนและนำไปเป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนางานของมหาวิทยาลัยในอนาคต
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยช่วยสร้างบรรยากาศการแข่งขัน และทำให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัย หากแต่การจัดอันดับที่ผ่านมาได้สร้างความขัดแย้งระหว่าง สกอ. กับมหาวิทยาลัย เนื่องด้วยมีความไม่เหมาะสมหลายประการ ดังนั้น การจัดอันดับ (Ranking) ที่ดี ควรกำหนดเกณฑ์ที่สอดคล้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยและเน้นเป้าหมายที่คุณภาพของบัณฑิต อาทิ การจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อสะท้อนภาพของการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยที่ครบถ้วน สามารถนำมาเปรียบเทียบได้แม้ช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป และเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยในแต่ละด้าน ซึ่งเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดอันดับ
การจัดอันดับหรือการจัดลำดับมหาวิทยาลัย เป็นแนวทางหนึ่งที่มีส่วนช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัย เร่งพัฒนาตนเองในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา เพียงแต่การจัดอันดับมหาวิทยาลัย ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stake holder) กลุ่มต่าง ๆ เข้ามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและพัฒนาตัวชี้วัดในการจัดอันดับร่วมกัน เพื่อให้ได้ระบบและเกณฑ์ที่สนับสนุนและก่อให้เกิดการพัฒนามหาวิทยาลัยได้อย่างมีคุณภาพและได้รับความร่วมมือ
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-04-04