ลดขยะ ลดโลกร้อน



* ที่มาของภาพ - http://www.89powerzone.com/resizer.php?imgfile=./photo/board/12569.jpgamp;size=350
เมื่อกวาดสายตามองไปรอบ ๆ กรุงเทพฯ แม้ว่าปัจจุบันดูสวยสะอาดตามากขึ้น แต่ในหลายพื้นที่เราคงจะยังพบเห็นขยะเกลื่อนกลาดตามถนนหนทาง ตรอกซอกซอย ตลาดสด ป้ายรถประจำทาง หรือ คูคลอง ไม่เพียงขยะที่เราพบเห็น แต่หากมองไปถึงขยะที่เก็บไปแล้ว ยังไม่สามารถทำลายหรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควรจะเป็น ปัจจุบัน กทม.เก็บขยะได้ประมาณ 8,343[1] ตันต่อวัน แต่ยังไม่สามารถกำจัดขยะได้ทั้งหมด โรงงานกำจัดขยะใน กทม.มีเพียง 3 แห่ง เทคโนโลยีที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ที่ทิ้งขยะไม่เพียงพอ เกิดภูเขาขยะและขยะล้นเมืองในที่สุด
ปัญหาขยะใน กทม. เป็นปัญหาที่เหมือนระเบิดเวลาที่จะส่งผลในอนาคตอันใกล้ หากไม่เร่งรีบจัดการ ปัญหาขยะล้นเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอันเกิดจากขยะ ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน และปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากขยะเป็นตัวการจะเกิดตามมา
ปัจจุบัน แม้หน่วยงานใน กทม.ผู้รับผิดชอบการเก็บขยะจะทำหน้าที่ของตนอย่างดีแล้ว ด้วยการตั้งเวลาจัดเก็บ แต่ยังมีช่องโหว่สำคัญ นั่นคือ ระบบการจัดเก็บขยะของเรายังคงล้าหลัง ขาดการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ ขาดการมองและวางแผนอย่างเป็นระบบว่าขยะแต่ละประเภทนั้นจะนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง เพื่อลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด และใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงแต่เก็บไปทิ้ง ฝังกลบ เผา และรีไซเคิลบ้างอย่างไม่ครบวงจรเท่านั้น
ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องกลับมาคิดเรื่องระบบการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากขยะครบวงจรอย่างจริงจัง เริ่มต้นที่กรุงเทพมหานครควรเป็นเมืองต้นแบบในการ ldquo;ปฏิวัติระบบกำจัดขยะrdquo; โดยสร้างกระบวนการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากขยะทุก ๆ ประเภททั้งหมดอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการเก็บ คัดแยก นำกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองสะอาด ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า และน่าอยู่อย่างยั่งยืน นั่นหมายความว่า ภาระที่ผู้รับผิดชอบต้องนำไปคิดและดำเนินการต่อไป ได้แก่
วางแผน 'วงจรชีวิต' ของขยะทุกประเภท
การปฏิวัติระบบกำจัดขยะ ต้องเริ่มต้นด้วยการวางวิสัยทัศน์ที่สำคัญ นั่นคือ การทำให้กรุงเทพฯปลอดขยะ หมายความว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องรู้ตั้งแต่เส้นทางเริ่มต้นที่ก่อขยะว่ามาจากที่ใด จะไปสู่ที่ใด และจะจบลงอย่างไรที่จะไม่ใช่ ขยะ อีกต่อไป ดังนั้น จำเป็นต้องรู้จักขยะในท้องถิ่น และวางแผนให้แจ่มชัดว่า ขยะทุกชิ้น ทุกประเภทควรจะจัดเก็บอย่างไรและควรนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น รู้ว่าขยะเปียกทั้ง กทม.มีจำนวนเท่าไร และศึกษาวิจัยว่าสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง เช่น ปุ๋ยชีวภาพ จุลินทรีย์ เพื่อใช้ในการเกษตร บำบัดน้ำเสีย ผลิตก๊าซชีวภาพ ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ใครจะเป็นคนทำ กทม.จะลงทุนเองหรือให้เอกชนมาลงทุน และจะมีกระบวนการในการจัดเก็บขยะเหล่านี้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ต้องประชาสัมพันธ์หรือมีกลไกให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือได้อย่างไรเพื่อให้การคัดแยกขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ขยะประเภทอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบทั้งกระบวนการเช่นกัน
การควบคุมให้ทุกขั้นตอนมีประสิทธิภาพ
การคัดแยกขยะ การคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ คือ การทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นเส้นทางของขยะแต่ละประเภทว่าจะไปสู่จุดไหนด้วยวิธีการใด จนทุกฝ่ายร่วมมือกันทำให้ขยะมีคุณค่า และมีวิธีการที่ง่ายพอที่แม้ประชาชนไม่มีความรู้ก็สามารถแยกขยะประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น ถังขยะต้องสื่อให้เข้าใจได้ทันที แทนที่จะใช้คำว่า ขยะเปียก ขยะแห้ง ควรสื่อไปเลยว่าเป็น ขยะเศษอาหาร ขยะพลาสติก โฟม ขยะแก้ว โลหะ ขยะแบตเตอรี่ใช้แล้ว คำเหล่านี้จะเข้าใจง่ายกว่า ซึ่งหากมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและมีการอบรมในชุมชน เช่น ทำให้เห็นว่าหากมีขวดพลาสติกพลาสติกที่มีน้ำอยู่จะต้องเทน้ำทิ้งก่อน แล้วจึงทิ้งขวดพลาสติกลงในถังขยะที่ระบุว่า ldquo;ขยะรีไซเคิลrdquo; เป็นต้น จะช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจและแยกขยะจนเป็นนิสัยได้ในที่สุด
การจัดเก็บขยะ ขยะจะต้องจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสนอว่า ควรเก็บขยะแต่ละประเภทแยกต่างหาก ไม่ปะปนกัน อาจมีการตั้งวันหรือเวลาเก็บเฉพาะของขยะแต่ละประเภท เช่น ขยะเปียกเก็บตอนค่ำของทุกวัน ขยะแห้งเก็บตอนเช้ามืด ขยะพิษเก็บสัปดาห์ละครั้ง ขยะอันตรายจากโรงพยาบาลโรงงานแยกเก็บต่างหาก เป็นต้น โดยมีระบบรถขยะแยกสีแยกประเภทต่าง ๆ ไม่ปะปนกัน
การเข้าสู่โรงงาน จุดหมายปลายทางของขยะที่จัดเก็บทั้งหมด ต้องไม่ไปสู่การเททิ้งบนภูเขาขยะเหมือนที่เคยเป็นมา แต่ต้องนำไปสู่โรงงานที่จะใช้ประโยชน์จากขยะหรือทำลายขยะประเภทนั้น เช่นขยะจำพวกขวดแก้ว ขวดพลาสติก นำส่งบริษัทรีไซเคิล ขยะอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีประโยชน์ เข้าสู่โรงงานทำลายขยะพิษซึ่งมีเตาเผาที่ได้มาตรฐาน
กรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงควรเป็นแบบอย่างเมืองปลอดขยะ เช่น เป็นต้นแบบของการใช้ผลิตภัณฑ์จากขยะรีไซเคิล เช่นถังขยะ ถุงดำ เก้าอี้ กระถางต้นไม้ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ ของ กทม.จะต้องมาจากการรีไซเคิล การใช้ปุ๋ยจากขยะในทุกสวนสาธารณะ เป็นต้น การทำเช่นนี้ นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังเท่ากับส่งเสริมให้ประชาชนเห็นประโยชน์จากขยะมากขึ้นด้วย

การปฏิวัติระบบกำจัดขยะจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อร่วมใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามากขึ้น การลงมือทำอย่างจริงจังจะช่วยขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสะอาดปราศจากขยะ และยังช่วยลดปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันได้อีกทางหนึ่งด้วย


[1] ข้อมูลปริมาณมูลฝอยเดือน ม.ค. 2551 จากสำนักสิ่งแวดล้อม

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-03-25