แนวคิดประสานความต้องการระหว่างชนชั้น



* ที่มาของภาพ - lt;http://www.skn.ac.th/skl/project/student/thai.jpggt;
สังคมเมืองอย่างกรุงเทพมหานครมีปัญหาเหมือนกับเมืองใหญ่ทั่วโลก คือความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูง ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการหรือแรงงานที่มีทักษะสูง และอาศัยอยู่ในบ้านรั้วหรือหมู่บ้านจัดสรร กับกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือประกอบอาชีพอิสระ เช่น หาบเร่ เก็บขยะ หรือรับจ้าง อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด บ้านไม้ หรือห้องเช่า
ความขัดสนทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยอาจถูกมองว่าเป็นปัญหาทางสังคม ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความไม่เป็นระเบียบของสังคม หรือเป็นภาระต่อสังคม
ในความเป็นจริง ทั้งสองกลุ่มคนในสังคมเมืองมีความเกื้อกูลกันในเชิงเศรษฐกิจ เพราะชีวิตที่รีบเร่งและมีเวลาที่จำกัด ทำให้ผู้ที่มีรายได้สูงมีต้นทุนของเวลาค่อนข้างสูง จึงมีความต้องการแรงงานมาช่วยทำงานที่จำเป็นบางประเภท เช่น การทำความสะอาดบ้าน การดูแลเด็กและคนชรา การซ่อมแซมบ้านหรือเครื่องใช้ในบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมักมีปัญหาการว่างงาน ว่างงานแฝง หรือทำงานไม่เต็มเวลา หรือมีความต้องการทำอาชีพเสริม
อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของคนสองกลุ่มในกรุงเทพฯ ไม่สามารถถูกประสานกันได้อย่างดีเพียงพอ เพราะข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความต้องการของทั้งสองฝ่ายไม่สมบูรณ์ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงมีความไม่ไว้วางใจหรือไม่มั่นใจในคุณภาพหรือความปลอดภัย ในการจ้างคนมาทำงานบ้านหรือดูแลคนในบ้าน เพราะมีกรณีที่คนรับใช้ขโมยของภายในบ้าน ทำร้ายเจ้าของบ้านหรือทำร้ายเด็ก เกิดขึ้นเสมอ ๆ
ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยไม่ทราบความต้องการของคนบ้านรั้ว และขาดทักษะแรงงานที่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งขาดความน่าเชื่อถือหรือไม่มีสายสัมพันธ์ที่แนะนำให้ไปทำงานกับกลุ่มผู้มีรายได้สูง
ผมจึงมีความเห็นว่า ภาครัฐควรเข้ามาเป็นตัวกลาง ในการแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ปัญหาทักษะแรงงานไม่ตรงกับความต้องการ และปัญหาคุณภาพมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของแรงงาน
แนวทาง คือ การสำรวจความต้องการของกลุ่มคนที่มีรายได้สูง โดยเน้นความต้องการทักษะอาชีพในสาขาบริการส่วนบุคคลหรือบริการในครัวเรือน ซึ่งมักจะเป็นงานแบบไม่เต็มเวลาหรืองานที่จ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้ทราบปริมาณความต้องการในแต่ละทักษะอาชีพในแต่ละพื้นที่
จากนั้นจึงจัดหาผู้เชี่ยวชาญและมืออาชีพในแต่ละทักษะอาชีพเพื่อพัฒนาหลักสูตร และสร้างมาตรฐานของแต่ละทักษะอาชีพโดยแต่ละทักษะจะมีมาตรฐานหลายระดับขั้น แล้วจึงนำผู้ว่างงานหรือผู้ที่ต้องการทำอาชีพเสริมมาฝึกอบรมทักษะอาชีพ รวมทั้งเปิดให้มีการทดสอบทักษะอาชีพ เพื่อออกใบรับรองมาตรฐานทักษะอาชีพให้แก่ผู้ที่เข้าฝึกอบรมและผ่านการทดสอบขั้นต่าง ๆ
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เข้ารับการฝึกทักษะอาชีพจะถูกส่งรายชื่อไปให้ตำรวจช่วยตรวจสอบประวัติ หรือให้ผู้นำชุมชนหรือคนที่เชื่อถือได้ช่วยรับรองความประพฤติ เพื่อทำให้ผู้ที่ต้องการจ้างแรงงานเกิดความไว้วางใจและลดความเสี่ยงในการถูกหลอกลวงหรือเกิดความเสียหายจากการจ้างงาน
ภาครัฐควรจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนรายชื่อแรงงานที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานทักษะอาชีพ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลรายชื่อแรงงาน ที่อยู่ที่ติดต่อได้ ระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับค่าจ้าง และการได้รับการรับรองความประพฤติ ทั้งนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนหรือผู้ที่ต้องการจ้างแรงงานมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกจ้างคนไปทำงานได้
นอกจากการสร้างความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารของตลาดแรงงาน การพัฒนาทักษะอาชีพให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการ และการสร้างความน่าเชื่อถือของแรงงานแล้ว ภาครัฐอาจสร้างกลไกประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยประสานกับบริษัทประกันภัยให้รับทำประกันความเสียหายจากการจ้างแรงงานดังกล่าว เช่น การลักขโมยทรัพย์สินในบ้าน การทำร้ายเด็กและคนภายในบ้าน การที่ผู้รับจ้างทิ้งงาน เป็นต้น
แนวคิดดังกล่าวข้างต้นเป็นการประสานความต้องการของชนชั้นกลางและชนชั้นฐานราก โดยแก้ปัญหาความล้มเหลวของตลาดแรงงานในกรุงเทพมหานคร อันเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารของตลาดแรงงาน เกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานและความน่าเชื่อถือด้านความประพฤติของแรงงาน ซึ่งน่าจะช่วยให้การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมเมืองเป็นไปอย่างเกื้อกูลกันมากขึ้น
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่19 มีนาคม 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-03-20