ผู้บริหารมหาวิทยาลัย กลไกผลักดันงานวิจัยก้าวหน้า

มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางวิชาการที่มีศักยภาพในผลิตองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐในการทุ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยต้องมีกลไกในการขับเคลื่อน ผลักดันให้การวิจัยและพัฒนามีคุณภาพ และสามารถเชื่อมโยงกับการนำไปใช้จริง
จากงานวิจัยของ ดร. อแมนด้า เอช กูดอลล์ (Amanda H. Goodall) นักวิจัยมหาวิทยาลัยวอร์ริค เรื่อง ldquo;มหาวิทยาลัยชั้นนำควรนำโดยนักวิจัยชั้นนำหรือไม่rdquo; พบว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัย เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ขับเคลื่อนการผลิตงานวิจัยออกสู่สังคม
ผลการวิจัยชี้ต่อไปว่า คุณสมบัติที่ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยต้องมีนั้น ไม่เพียงความสามารถในการบริหารจัดการเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นผู้นำที่มีความเป็นนักวิชาการ อันเป็นหัวใจของการสร้างความเข้มแข็งในด้านวิชาการแก่มหาวิทยาลัยอีกด้วย ดังคำพูดของผู้วิจัยที่กล่าวว่า ldquo;หากคุณต้องการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก คุณต้องมีนักคิดระดับโลกเป็นหัวหน้าrdquo;
ข้อค้นพบที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนใหญ่ ที่มีผลการวิจัยจำนวนมากนั้น จะมีอธิการบดีหรือผู้บริหารระดับสูงที่มีประวัติดีเด่นด้านการวิจัย อาจกล่าวได้ว่า มีทั้งผลงานวิจัยของตนเองจำนวนมาก และมีการทำวิจัยอย่างดีเลิศ
การเห็นคุณค่าของการทำวิจัยนี้เอง ผู้บริหารเหล่านี้ จึงมีทัศนคติที่ดีต่อการส่งเสริมให้มีการทำวิจัย รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านผลงานวิชาการ การวิจัยในมหาวิทยาลัย และสร้างมาตรฐานงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อันเป็นผลให้เกิดการผลักดันมหาวิทยาลัยผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพออกสู่สังคม
หลายท่านอาจคาดเดาได้ว่า งานวิจัยดังกล่าว ย่อมมี ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่เป็นแนวหน้าในการทำวิจัย เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เน้นการผลิตงานวิจัยออกสู่สังคม จนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เห็นได้จากรางวัลระดับโลกที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็น การจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก 4 ปีซ้อน โดยนิตยสารไทม์ไฮเออร์ และยังเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับหนึ่งในปี 2004 จากThe Academic Ranking of World Universities โดยมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวถง (Shanghai Jiao Tong University)
การสั่งสมชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของงานวิจัยนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผู้บริหารที่ผลักดัน กำหนดกลไกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การทำสัญญาจ้างงานชั่วคราวกับอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์บางประเภทให้มีผลงานวิจัยอยู่เสมอ การเรียนการสอนที่ให้นักศึกษามีทักษะการวิจัย ค้นคว้า สามารถทำงานวิจัยร่วมกับคณาจารย์ได้ การเผยแพร่ผลงานวิจัยผ่านสิ่งพิมพ์ และเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยอยู่เนือง ๆ
ความทุ่มเท และเห็นคุณค่าการทำวิจัยของผู้บริหารนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดจึงมีผู้สนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยจำนวนมหาศาล ทั้งจากรัฐบาลกลางและภาคส่วนอื่น ล่าสุดในปี 2005 มูลค่า 630.1 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือราวสองหมื่นกว่าล้านบาท และสามารถผลิตงานวิจัยออกสู่สังคมเป็นจำนวนมาก นับเฉพาะการศึกษากรณีตัวอย่าง (Case study) ที่นำเสนอสู่สาธารณะมากกว่า 70,000 ตัวอย่าง
ข้อคิดที่ได้รับจากงานวิจัย และแบบอย่างของฮาร์วาร์ดในตอนนี้ เป็นประเด็นของการกระตุ้นเตือนไปยังผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย ที่จะเป็นแรงผลักดันในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการวิจัยในมหาวิทยาลัย และยกระดับคุณภาพของงานวิจัยให้มีมาตรฐาน รวมถึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในทิศทางที่ดีขึ้น
สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ผู้บริหารจำเป็นต้องเอาจริงเอาจัง ในการกำหนดมาตรการ กลไกในการขับเคลื่อน มีแนวทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนคณาจารย์ นักศึกษา ในการทำวิจัย และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม เพื่อสร้างงานวิจัยที่สอดรับกับความต้องการของตลาด และทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน มองการณ์ไกล สามารถวาดภาพในอนาคตให้ประชาคมเห็นภาพในอนาคตได้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยจะโดดเด่นในเรื่องใดบ้าง จะมุ่งเน้นงานวิจัยในด้านใด ใครจะเข้ามามีส่วนร่วมบ้างอย่างไร บุคลากรจะได้รับการพัฒนาด้านใดเพื่อรองรับการการเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการวิจัย ผู้เรียนจะถูกพัฒนาทักษะด้านใดเพื่อสามารถทำวิจัยอย่างมีคุณภาพ เป็นต้น
การพัฒนางานวิจัยบนจุดแข็งของมหาวิทยาลัย การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยวิจัย จะต้องเป็นการขับเคลื่อนจากจุดแข็งของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจมาจากความสามารถของคณาจารย์ องค์ความรู้ที่ล้ำสมัยกว่าสถาบันอื่น อันเป็นต้นทุนที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีอยู่แล้ว หากผู้บริหารสามารถดึงจุดแข็งจากส่วนต่าง ๆ ให้สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้อย่างมีคุณภาพ จะส่งผลให้งานวิจัยที่ผลิตออกมานั้นมีคุณค่า และมีคุณภาพมากขึ้น
การจัดลำดับความสำคัญอย่างเหมาะสม ผู้บริหารต้องสามารถแยกได้ว่าสิ่งใดที่สำคัญที่สุด และควรให้ความสำคัญในการตัดสินใจและลงมือปฏิบัติก่อนสิ่งอื่น เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น เช่น การมีแนวทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนการทำวิจัยของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยอาจกำหนดตารางการสอนและการวิจัยอย่างสมดุล เพื่อให้คณาจารย์มีเวลาทำวิจัย
ข้อคิดที่สะท้อนมานี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในการเร่งสนับสนุนส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะ และสร้างงานวิจัยเพื่อสร้างชื่อเสียงและคุณภาพให้มหาวิทยาลัย รวมถึงการสร้างผลงานที่มีคุณค่าแก่สังคมและประเทศชาติต่อไป
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-03-18