?ทักษะการจัดระบบ? ทักษะเพื่อความลงตัวในการใช้ชีวิต

ทักษะการจัดระบบ (Organization skill)นับเป็นทักษะสำคัญอันนำมาซึ่งความลงตัวและประสิทธิภาพในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบชีวิตส่วนตัว การเรียน การทำงาน การใช้ชีวิตครอบครัว อีกทั้งยังเป็นทักษะจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคโลกา ภิวัตน์ที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งกว่ายุคใดในอดีตที่ผ่านมา
ที่ใดไม่มีการจัดระบบที่นั่นย่อมอยู่ในสภาวะแห่งความสับสนวุ่นวาย อาทิ
บ้านเมืองใดที่ไม่มีการจัดระบบวางผังเมืองอย่างดี...ย่อมนำมาซึ่งปัญหาตามมามากมายทั้งปัญหาจราจรติดขัด ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะ น้ำท่วมฯลฯ
องค์กใดที่ไม่มีการจัดระบบบริหารจัดการอย่างดี...ย่อมนำมาซึ่งการขาดประสิทธิภาพและความสับสนวุ่นวายในการทำงาน ความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างผู้บริหารและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ส่งผลให้องค์กรไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
บ้านใดที่ไม่มีการจัดระบบระเบียบ...ย่อมนำมาซึ่งความไม่น่าดู สกปรก รกรุงรัง จะค้นหาอะไรก็แสนยากลำบาก เพราะไม่รู้ว่าไปเก็บไว้ที่ไหน อันอาจเป็นชนวนให้เกิดการทะเลาะวิวาทความไม่ลงรอยระหว่างกันในครอบครัวตามมาได้
บุคคลใดที่ไม่มีการจัดระบบระเบียบในชีวิตส่วนตัว...ย่อมนำมาซึ่งการเปิดจุดอ่อนในชีวิต ยากที่ชีวิตจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ทักษะการจัดระบบจึงนับเป็นทักษะที่มีความสำคัญทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคที่ควรสร้างให้เกิดขึ้นเป็นลักษณะนิสัยของคนในชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่คนส่วนใหญ่ขาดระบบระเบียบในการใช้ชีวิต ต่างไปจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ เช่น ประเทศญี่ปุ่นสิงคโปร์ ฯลฯที่ ldquo;ความมีระบบระเบียบrdquo; เป็นคุณลักษณะประจำชาติที่สำคัญอันนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง
ทักษะการจัดระบบ ไม่ใช่เป็นเพียงการทำตามระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้น หรือการมีระเบียบวินัยเท่านั้น แต่ทักษะการจัดระบบเป็นความสามารถในการจัดการกับสภาพความสับสนวุ่นวาย หรือสภาพการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยการออกแบบ ldquo;ช่องทางrdquo; หรือ ldquo;ระบบrdquo; ใหม่ ๆ มารองรับเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาทักษะด้านนี้จำเป็นต้องอาศัยการหมั่นฝึกฝนและการสั่งสมประสบการณ์ ดังนั้นจึงควรเริ่มฝึกฝนตั้งแต่วัยเยาว์ โดยพ่อแม่สามารถช่วยในการฝึกฝนทักษะด้านนี้ให้แก่ลูกได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น
การจัดระบบข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างและเป็นผู้ริเริ่มให้ลูกเห็นถึงแนวทางการจัดระบบจากตัวอย่างจริงภายในบ้าน โดยเริ่มจากชักชวนลูกให้
...สำรวจอุปกรณ์เครื่องใช้สิ่งของต่าง ๆ ภายในบ้าน ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ในห้องครัว ห้องน้ำ ห้องสมุด จดหมายที่ได้รับทางไปรษณีย์ขยะมูลฝอยประเภทต่าง ๆ ฯลฯ โดยจัดทำบัญชีรายการสิ่งของทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง
...ช่วยกันจัดหมวดหมู่ จากรายการอุปกรณ์ต่าง ๆ ว่าอุปกรณ์ใดควรอยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยคำนึงได้จากปัจจัยต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์และประโยชน์การใช้สอย เช่น จัดกลุ่มตามลักษณะการใช้งานจัดกลุ่มตามความถี่ในการใช้งาน จัดกลุ่มตามสีจัดกลุ่มตามขนาด เป็นต้นโดยให้ลูก ๆ มาช่วยกันจัดว่าอุปกรณ์ใดควรอยู่ในกลุ่มใด
...จัดเรียงอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ในที่ ๆ เหมาะสมในการใช้งานจัดหาพื้นที่ว่าง ห้องว่าง ชั้นวางของ ลิ้นชัก กล่องหรือลังเพื่อช่วยกันนำของที่จัดหมวดหมู่ในมาจัดเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ พ่อแม่ควรชักชวนลูกร่วมกันออกแบบว่าควรจัดเก็บสิ่งใดไว้ในที่ใดภายในบ้าน พร้อมให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใด
....จัดทำแบบบันทึกรายการว่าเราเก็บสิ่งใดไว้ที่ใด เพราะหากไม่มีการจดไว้ หรือไม่ได้มีการเขียนติดไว้ที่หน้าตู้ กล่อง ลิ้นชัก สถานที่เก็บอื่น ๆ แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจลืมไปเลยว่าเคยเก็บสิ่งนี้ไว้ที่ใดหรืออาจลืมไปเลยว่าเราเองมีสิ่งของนี้อยู่ที่บ้านเช่นกัน
การจัดกระเป๋าหนังสือเรียนของลูก เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักมีปัญหาเรื่องการจัดตารางสอนหรือการจัดกระเป๋าหนังสือไปโรงเรียน บ้างก็ลืมของลืมการบ้าน ลืมหนังสือไปโรงเรียน บ้างก็ไม่เคยจัดกระเป๋าเลยแต่ขนไปทุกอย่างจนสรีระร่างกายมีปัญหาเนื่องจากแบกของหนักมากเกินไป ดังนั้นพ่อแม่จึงควรฝึกทักษะการจัดระบบให้แก่ลูกด้วยการดูแลในเรื่องการจัดกระเป๋าหนังสือเรียนของลูกทุกครั้ง ที่ไปโรงเรียน ช่วยลูกจัดตารางสอน จัดอุปกรณ์การเรียนการสอนออกเป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการหยิบใช้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการสอนให้ลูกจัดเก็บเอกสารการเรียนอย่างเป็นระบบ อาทิ การใช้แฟ้ม กล่องใส่เอกสาร รวมไปถึงการจัดเก็บเข้าไฟล์ในคอมพิวเตอร์ อย่างเป็นระบบ ในการกำหนดชื่อไฟล์ โฟลเดอร์ ที่ง่ายต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์
การจัดเก็บของเล่นของลูก ของเล่นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเด็ก ๆ ทุกคน ปัญหาส่วนใหญ่ที่พ่อแม่มักพบ คือลูกอาจมีของเล่นเยอะมาก และไม่ได้เก็บไว้อย่างเป็นที่เป็นทาง ทำให้หาของเล่นชิ้นนั้นไม่พบเมื่อจะมาเล่นในครั้งต่อไป ดังนั้นพ่อแม่ไม่เพียงแต่สอนให้ลูกเก็บของเล่นเป็นที่เป็นทางหลังเลิกเล่นแล้วเท่านั้น แต่ควรสอนให้ลูกรู้จักจัดระบบของเล่นของตนด้วยเช่นกัน โดยแบ่งของเล่นเป็นประเภทต่าง ๆ อาทิ หมวดตุ๊กตา หมวดเกม หมวดกีฬา หมวดตัวต่อพร้อมหากล่อง ลัง ลิ้นชัก ตู้ ฯลฯ ไว้ใส่ของเล่นลูกตามหมวด รวมทั้งติดชื่อรายการของเล่นต่าง ๆ ไว้ด้านหน้า เพื่อสะดวกต่อการหา และการจัดเก็บ ทั้งนี้เด็กส่วนใหญ่อาจไม่ชอบที่จะเก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จ พ่อแม่จึงอาจต้องใช้วิธีการจูงใจให้ลูกเห็นว่าเป็นเรื่องสนุกในการแยกของเป็นหมวดหมู่หรืออาจต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ อาทิ คำชม รางวัล ให้กับลูกทุกครั้งที่มีการเก็บของเล่นของตนไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ
โดยภายหลังจากการจัดระบบใด ๆ เสร็จสิ้นสิ่งสำคัญที่ควรดำเนินการ คือ การจัดทำใบบันทึกรายการ หรือคู่มือด้วยทุกครั้งเพื่อเป็นประโยชน์ในการหาสิ่งของต่าง ๆ และเป็นแนวทางในการจัดระบบให้ทันสมัยในครั้งต่อไปทั้งนี้หัวใจหลักสำคัญอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในการฝึกฝนทักษะดังกล่าว ได้แก่
...ความสามารถในการคิดหาระบบที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่าง ๆซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการคิดเป็นสำคัญ กล่าวคือ การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เพื่อจำแนกองค์ประกอบต่าง ๆ จากสภาพความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง...การคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) เพื่อนำองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ได้จากการคิดเชิงวิเคราะห์นั้นมาจัดกลุ่มให้เข้าพวกกัน...การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking) เพื่อนำองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จัดกลุ่มแล้วนั้นมาสร้างเป็นระบบหรือช่องทางใหม่ที่มีความคล่องตัวมากกว่าเดิมเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจ โดยพ่อแม่สามารถสอนให้ลูกเรียนรู้ด้วยการเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นรวมทั้งอาจสอนผ่านตัวอย่างการจัดระบบต่าง ๆ ที่มักพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น การจัดระบบจัดหมวดหมู่ในสมุดโทรศัพท์พจนานุกรม สารานุกรมสารบาญในหนังสือประเภทต่าง ๆ วิธีการจัดหมวดหมู่หนังสือในห้องสมุด การจัดหมวดหมู่สินค้าประเภทต่าง ๆในห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะการจัดระบบในชีวิตประจำวันของเราต่อไป
...ความมีวินัยหมั่นฝึกฝนและทำอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อจัดระบบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสร็จแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องไปทำอะไรกับมันอีก เพราะระบบที่ตั้งไว้อาจยังอาจไม่สมบูรณ์เพียงพอหรือล้าสมัย ซึ่งในระหว่างทางที่ใช้ระบบนั้นเราสามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาระบบดังกล่าวให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปการเพิกเฉยไม่ใส่ใจปล่อยปละละเลยอาจส่งผลให้การจัดระบบเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากสภาพการณ์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนอาจกลายเป็นดินพอกหางหมูยากที่จะสะบัดหลุดไปได้ พ่อแม่จึงควรช่วยลูกในการฝึกวินัย ในการจัดระบบสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เก็บข้าวของให้เป็นที่เป็นทาง ให้เคยชินเป็นนิสัย โดยในช่วงแรกอาจต้องสร้างแรงจูงใจ เช่น การให้รางวัล การกล่าวชมเชย เป็นต้น
ทักษะการจัดระบบเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของการบริหารชีวิตอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นการร่นระยะเวลาในการทำงานและลดความตึงเครียดในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ที่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีทักษะการจัดระบบที่ดีย่อมได้เปรียบในการรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีในการจัดระบบชีวิตให้ลงตัวได้ในทุกสถานการณ์
admin
เผยแพร่: 
แม่และเด็ก
เมื่อ: 
2008-03-17