การตรวจสอบร่างกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญ

อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540

ประการหนึ่งคือ การวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาว่า มีข้อความใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายนั้นขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาล

ดังที่ปรากฏในมาตรา262ระบุว่า หาก ส.ส. ส.ว. เห็นว่าร่างกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะต้องเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณีและประธานฯ จึงส่งคำร้องขอนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป

ที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ความเห็นที่ขอให้ตรวจสอบมักจะไม่ถูกยื่นไปยังศาล
รัฐธรรมนูญในทันที หรือยื่นไปไม่ทันเพราะร่างกฎหมายได้เสนอทูลเกล้าฯ ไปแล้วสาเหตุหนึ่งอาจเนื่องจากรัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎรประธานวุฒิสภาหรือประธานรัฐสภาตัดสินใจยื่นเรื่องต่อไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งบุคคลเหล่านี้มักมาจากคนของฝ่ายรัฐบาลประกอบกับผู้ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบมักเป็นตัวแทนฝ่ายข้างน้อยจึงอาจมีเรื่องของการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้โดยง่าย

ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งเรื่องกลับมายังรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขอีกครั้ง แต่ประธานรัฐสภากลับส่งเรื่องมายังวุฒิสภา และไม่ได้แจ้งให้ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป จนทำให้ประธานวุฒิสภาสั่งให้สำนักงานเลขาฯแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยพลการจนสร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดาวุฒิสมาชิกเป็นอย่างมาก

หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เจตจำนงตามรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบร่างกฎหมายของฝ่ายบริหาร ย่อมไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้ในทางปฏิบัติเพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าร่างกฎหมายนั้นเหมาะสมหรือขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันเกิดจากการถ่วงเวลาของผู้มีอำนาจที่ทำหน้าที่ส่งเรื่องต่อไปยังศาลและหากร่างกฎหมายนั้นได้ถูกบังคับใช้แล้ว ย่อมไม่สามารถปรับแก้ใด ๆ ได้อีก ในที่สุดจึงต้องยอมรับกฎหมายนั้นไปโดยดุษฎี

ดังนั้น แนวทางแก้ไขเพื่อให้กลไกการตรวจสอบร่างกฎหมายสามารถทำงานได้ และเพื่อให้กระบวนพิจารณารวดเร็วขึ้น จึงเสนอว่า .ส.ควรมีสิทธิยื่นเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงโดยไม่ต้องเสนอผ่านประธานสภาฯ เพียงแต่ ldquo;แจ้งrdquo; ให้ประธานสภาฯ ทราบ เพื่อหยุดการพิจารณากฎหมายรอไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน จึงควรเปิดทางให้มีการเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วที่สุด เนื่องจาก ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนจะได้ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลโดยเฉพาะร่างกฎหมายในสภาก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป

ที่สำคัญ การให้ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนทำหน้าที่ในสภา มีสิทธิยื่นร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดย ส.ส. และ ส.ว. สามารถยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านประธานสภานั้นอาจจะเป็นหนทางขจัดการกระทำที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมืองให้ลดน้อยลงผ่านระบบ รวมถึงการส่งเสริมการตรวจสอบอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้สิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบการทำงานของทุกฝ่ายอย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ การตรวจสอบร่างกฎหมายในระบบรัฐสภาไม่ควรยากเกินไป มิฉะนั้นกลไกการตรวจสอบจะไม่สามารถทำงานได้ เพราะระบบรัฐสภาฝ่ายข้างมากคือฝ่ายรัฐบาลที่เป็นผู้เสนอกฎหมายส่วนใหญ่ ดังนั้น ไม่ว่าจะเสนอกฎหมายอะไรย่อมผ่านแน่นอน หากอยากให้กลไกนี้ทำงานได้จริงจึงไม่ควรให้มีขั้นตอนที่ซับซ้อนเกินไป รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยจะต้องมีความเป็นกลาง มีความเชี่ยวชาญ และมีกระบวนพิจารณาที่รวดเร็วด้วย

การลดขั้นตอนการตรวจสอบร่างกฎหมายที่จะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างรวดเร็วนั้นจำเป็นต้องมีวิธีการป้องกันการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองที่อาจถ่วงเวลา ไม่รีบดำเนินการตามขั้นตอนโดยเร็ว รวมถึงวิธีการอื่น ๆ ที่ซับซ้อนเกินความจำเป็น เพื่อให้ร่างกฎหมายนั้นเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวไทยอย่างแท้จริง
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ: 
2007-07-17