วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกเรียนในมหาวิทยาลัย


* ที่มาของภาพ - http://www.boomerangshop.com/dvdcover/ImageWeb2/FinalScore%20_f.jpg


ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในต่างประเทศต้องแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดระดับอุดมศึกษาด้วยการจัดการศึกษาที่ตอบสนองผู้เรียนให้ได้มากที่สุด เพื่อดึงผู้เรียนจากต่างชาติให้เข้ามาเรียนให้มากที่สุด ซึ่งเกณฑ์ในการเลือกศึกษาต่อของผู้เรียน ประกอบไปด้วยเกณฑ์ด้านความมีชื่อเสียง คุณภาพ การศึกษา และความปลอดภัยภายในประเทศ แต่แนวโน้มในอนาคต การศึกษาข้ามชาติจะทำให้ผู้เรียนมีช่องทางการศึกษามากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องไปศึกษาต่อในต่างประเทศ
องค์กร International Graduate Insight Group (i-graduate) องค์กรวิจัยอิสระที่สนับสนุนผลการวิจัยและให้คำปรึกษาแก่สถาบันอุดมศึกษากว่า 140 สถาบันทั่วโลก โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ไอร์แลนด์ อเมริกาเหนือ และแอฟริกาใต้ ได้เผยสำรวจล่าสุดแก่นิตยสารไทมส์ไฮเออร์ (Times Higher Education Supplement: THES) เมื่อปลายมกราคม 2008 ในประเด็นที่ว่า ปัจจัยใดที่มีอิทธิพลต่อการเลือกศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศของนักศึกษาต่างชาติมากที่สุด โดยสำรวจความคิดเห็นจากนักศึกษา 11,000 คน ใน 143 ประเทศทั่วโลก
จากผลการสำรวจได้ชี้ให้เห็นว่า สหราชอาณาจักรกำลังเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ ในตลาดการศึกษาระดับอุดมศึกษา นักศึกษาร้อยละ 95 ต้องการเรียนมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 93 ผลสำรวจยังบอกอีกด้วยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้นักศึกษาต่างชาติเดินทางเข้ามาศึกษาต่อในสหราชอาณาจักรคือ ความปลอดภัย แม้ว่านักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม ซึ่งในผลสำรวจ อังกฤษได้รับการจัดอันดับว่ามีความปลอดภัยมากที่สุดร้อยละ 96 รองลงมาคือ แคนนาดา ออสเตรเลีย ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 86 และจากการจัดอันดับความปลอดภัย 18 อันดับแรก สหรัฐฯ อยู่อันดับที่ 9 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ยังได้รับการยอมรับด้านคุณภาพการเรียนการสอน และความมีชื่อเสียง ที่สำคัญ สหราชอาณาจักรยังให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของศึกษาเป็นอย่างมาก แต่สิ่งด้อยกว่าประเทศอื่นคือ การเปิดโอกาสให้บัณฑิตต่างชาติทำงานต่อภายในประเทศมีไม่มากนัก
บิล แรมเมลล์ (Bill Rammell) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนวัตกรรม มหาวิทยาลัย และทักษะ (Departmentfor Innovation, University and Skills) กล่าวว่า ผลการสำรวจดังกล่าวได้ยืนยันว่า นักศึกษาต่างชาติมองเห็นประโยชน์ของการเรียนในสหราชอาณาจักร ด้วยมาตรฐานและคุณภาพระดับสูงของมหาวิทยาลัย ทำให้แน่ใจได้ว่านักศึกษาทั่วโลกยังคงนิยมเข้ามาเรียน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้ประโยชน์จากนักศึกษาต่างชาติอย่างมาก อาทิ ได้รับองค์ความรู้และโลกทัศน์ใหม่ ๆ ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยที่มีคุณภาพ และที่สำคัญ มีรายได้เข้ามาสู่มหาวิทยาลัยและระบบเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรจำนวนมาก
นอกจากนั้น ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ความคาดหวังของนักศึกษาต่างชาติต่อมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรกำลังการท้าทายสหรัฐฯ อย่างมาก และสหรัฐฯ กำลังเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับประเทศต่าง ๆ ที่ในปัจจุบัน ได้หันมาเพิ่มศักยภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาภายในประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน เป็นต้น ซึ่งเป็นการเสียส่วนแบ่งในอัตราที่เร็วกว่าสหราชอาณาจักร แต่คงง่ายเกินไปที่จะสรุปว่า ในตลาดการศึกษาระดับอุดมศึกษา สหรัฐฯ กำลังกลายเป็นผู้เล่นรอง ผลสำรวจยังถือว่าเป็นเพียงสัญญาณเตือนเบื้องต้นของสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะผลสำรวจ พบว่า นักศึกษากว่า 2 ใน 3 เลือกเรียนเพราะสถาบันการศึกษามากกว่าประเทศ โดยปัจจัยด้านชื่อเสียงและการดำเนินการทางการตลาดของแต่ละสถาบัน เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสหรัฐฯ ยังได้รับการยอมรับด้านชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมากกว่าสหราชอาณาจักร คืออยู่ที่ร้อยละ 99 สหราชอาณาจักรอยู่ที่ร้อยละ 97 แคนนาดา เยอรมนี และฝรั่งเศส อยู่ที่ร้อยละ 97
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการศึกษาระดับอุดมศึกษาข้ามชาติ (transnational higher education) เป็นทางเลือกใหม่ของนักศึกษาต่างชาติ เพราะการสำรวจยังพบว่า นักศึกษาในบางประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และปากีสถาน สนใจที่จะเรียนในประเทศหากมีมหาวิทยาลัยชื่อดังจากต่างชาติเข้ามาเปิดสอน ซึ่งในเรื่องนี้ วิล อาร์เชอร์ (Will Archer) ผู้อำนวยการ i-graduate คาดการณ์ว่า ในอนาคตสถาบันอุดมศึกษาข้ามชาติจะมีอิทธิพลมากกว่าสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ
ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การแข่งขันของตลาดระดับอุดมศึกษาในปัจจุบัน และสะท้อนภาพอนาคตของการขยายตัวของการศึกษาระดับอุดมศึกษาข้ามชาติ ซึ่งปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเลือกศึกษาต่อมหาวิทยาลัยมี 2 ปัจจัยคือ ความปลอดภัยภายในประเทศและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย โดย 2 ปัจจัยนี้ ได้ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติให้ไปเรียนยังต่างประเทศ แต่ในอนาคต นักศึกษาเลือกที่ที่จะศึกษาต่อในประเทศ หากมีมหาวิทยาลัยชื่อดังจากชาติเข้ามาเปิดวิทยาเขต
ดังนั้น แนวโน้มของมหาวิทยาลัยทั่วโลกจะไม่แข่งขันด้วยการ ldquo;ดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยของตนให้ได้มากที่สุดrdquo; อีกต่อไป แต่จะเป็นการแข่งขันด้วยการ ldquo;ขยายสาขาหรือไปเปิดหลักสูตรในต่างประเทศให้ได้มากที่สุดrdquo; โดยผู้อำนวยการ i-graduateกล่าวว่า ความพยายามของสถาบันอุดมศึกษาและผู้กำหนดนโยบายประเทศ เพื่อดึงนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศให้ได้มากที่สุด อาจทำให้พวกเขาเสียเวลาและสูญเสียรายได้ในอนาคต หากยังไม่เข้าใจความจริงที่ว่า ความคาดหวังของนักศึกษากำลังเปลี่ยนไป และทุกปีนักศึกษามีทางเลือกมากขึ้น
ตลาดการอุดมศึกษาไทยในปัจจุบันแข่งขันรุนแรงเช่นเดียวกัน ทั้งที่เป็นการแข่งขันภายในประเทศ จากกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาไทยด้วยกันเอง และการเข้ามาแข่งขันของสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศ โดยการรุกเข้ามาเปิดวิทยาเขตและหลักสูตรโดยตรง หรือเปิดหลักสูตรร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาไทย ฯลฯ และมีแนวโน้มที่มหาวิทยาลัยต่างชาติจะเข้ามาสำรวจความต้องการของนักศึกษาไทยและช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศไทย มหาวิทยาลัยไทยที่ต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ แต่ไม่มีความพร้อม อาจหาทางออกโดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากต่างชาติ เพื่อดึงนักศึกษาที่ต้องการเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ หรือในทางตรงข้าม มหาวิทยาลัยไทยมีแนวโน้มเปิดหลักสูตรที่เรียนจบง่าย โดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์หรือทำวิจัย เพื่อดึงดูดผู้เรียนจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลลบต่อคุณภาพอุดมศึกษาไทยในท้ายที่สุด
หากมหาวิทยาลัยไทยช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดการศึกษา โดยใช้วิธีเปิดหลักสูตรที่เรียนจบง่ายได้ปริญญาเร็ว เพื่อดึงนักศึกษาที่ต้องการได้ใบปริญญาเพื่อเป็นใบเบิกทาง นอกจากจะนำไปสู่ความตกต่ำของคุณภาพถาบันอุดมศึกษาไทยแล้ว ยังเป็นการลดทอดโอกาสการแข่งขันในตลาดการศึกษาอีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคุมคุณภาพและทิศทางการขยายตัวของสถาบันอุดมศึกษาไทยให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้ง เร่งศึกษาถึงแนวโน้มตลาดการศึกษาของโลกในอนาคต เพื่อนำมากำหนดกลยุทธ์การแข่งขันของสถาบันอุดมศึกษาไทย
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ฉบับวันศุกร์ที่7 มีนาคม 2551

แสดงความคิกเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-03-13