รื้อ ICL ต้องให้คนจนเข้าถึงได้จริง

รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแนวทางจะสานต่อโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ ICL (Income Contingent Loan) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้ และมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งโครงการเดิมที่หยุดชะงักไปนั้นไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขผู้ขอกู้ยืมเหมือนในกองทุนกู้ยืม กยศ. ที่กำหนดว่าครอบครัวของผู้ขอกู้ต้องมีเงินไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตามการสร้างโอกาสทางการศึกษาโดยไม่กำหนดเงื่อนไขของผู้ที่จะเข้ามากู้ยืมดังเช่นเดิมนั้น นับเป็นการใช้งบประมาณของประเทศที่มีอย่างจำกัดโดยไม่มีประสิทธิภาพ
ระบบ ICL เงินกู้เป็นแบบไม่มีดอกเบี้ย และไม่จำกัดระยะเวลาการชำระหนี้ แม้จะมีการปรับเงินต้นตามอัตราเงินเฟ้อแต่ปกติอัตราเงินเฟ้อจะต่ำมาก หากวิเคราะห์ตามเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์แล้วสามารถคาดการณ์ได้ว่า นักศึกษาทุกคนจะเข้ามากู้เงินจะไม่จ่ายค่าเล่าเรียนเป็นเงินสด เพราะหากนำเงินที่มีอยู่ไปฝากธนาคารหรือลงทุน จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายเป็นค่าเล่าเรียน เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐต้องใช้งบประมาณมากขึ้น ในการจัดสรรให้ผู้เรียนทั้งหมด ทั้งผู้เรียนที่มีความสามารถที่จะจ่ายเองได้ และผู้เรียนที่ยากจน จึงนับเป็นการใช้งบประมาณของประเทศที่มีจำกัดอย่างไม่มีประสิทธิภาพและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น
ดังนั้นหากรัฐบาลชุดนี้จะนำเอากองทุน ICL ขึ้นมาปัดฝุ่น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบและมีความระมัดระวังในการนำระบบ ICL มาใช้ ซึ่งผมมีข้อเสนอในการป้องกันปัญหาการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นภาระต่อการจัดสรรงบประมาณประเทศ โดยกองทุนฯ ควรกำหนดให้ระบบ ICL มีรูปแบบที่มีอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง ใน 2 รูปแบบ
กองทุนเงินกู้ยืมที่ไม่มีดอกเบี้ย เป็นระบบที่ควรใช้เฉพาะสำหรับนักศึกษาที่มีฐานะยากจนจริง ๆ โดยใช้เงื่อนไขของกองทุนกู้ยืม กยศ.เดิมก็ได้ในการกำหนดเกณฑ์คัดเลือกผู้ที่จะมากู้ยืม เป็นระบบที่รัฐได้อุดหนุนเฉพาะนักศึกษาที่ยากจน ไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าเล่าเรียน และต้องรับผิดชอบครอบครัวเมื่อเรียนจบ
กองทุนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยคงที่ (ไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปี) ใช้ระบบนี้สำหรับนักศึกษาที่มีฐานะดีแต่ประสงค์จะกู้ยืมเงิน ระบบเงินกู้นี้อัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้เงินทุนหมุนเวียนของกองทุนกู้ยืมมีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่คงที่หรือลดลงไปเรื่อย ๆ นอกจากยังช่วยเข้าไปควบคุมจำนวนหนี้ที่ยังตามเก็บไม่ได้จากผู้กู้ที่มีเงินเดือนน้อย และผู้กู้ที่ยังไม่มีงานทำ เป็นการประกันความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้สูญ นอกนั้นการกำหนดให้มีอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้องยังมีประโยชน์ คือ เป็นการกันไม่ให้นักเรียนนักศึกษาที่มีฐานะดีเข้ามากู้ยืมเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย ทำให้รัฐได้ช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ยากจนสามารถเข้าถึงได้จริง
หากมีการกำหนดกองทุน ICL ที่มีความเหมาะสมกับผู้กู้แต่ละคนแล้ว ยังมีประโยชน์ในการป้องกันความเสี่ยงของการกลายเป็นหนี้สูญ เพราะก่อนการเข้าสู่ระบบการกู้ยืมจะมีการตรวจสอบรายได้ของครอบครัวของผู้กู้ก่อน ทำให้คนจนไม่เสียเปรียบคนรวย และคนรวยสามารถชำระหนี้ได้ตามความสามารถที่แท้จริงได้
กองทุน ICL โดยหลักการถือว่าเป็นระบบที่ช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงของประชาชน แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการ จัดเก็บหนี้เงินกู้ไม่ให้เสี่ยงต่อการเป็นหนี้สูญ (NPL) และเป็นการใช้งบประมาณที่มีความจำกัดให้เกิดผลดีสูงสุดกับนักศึกษาที่ยากจนและต้องการโอกาสทางการศึกษาจริง ๆ โดยการสร้างเงื่อนไขให้มีอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐรายวัน (ศึกษาทัศน์)
เมื่อ: 
2008-03-07