ควรยกเลิกมาตรการ 30% หรือไม่

นับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้มาตรการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 30 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 มาตรการนี้เป็นประเด็นที่สร้างความแตกต่างทางความคิดเห็นมาโดยตลอด ว่าควรยกเลิกหรือควรให้คงอยู่ต่อไป
ความแตกต่างทางความคิดเกี่ยวกับมาตรการนี้ปะทุขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน เมื่อกลุ่มผู้ผลิตและผู้ส่งออกเรียกร้องให้คงมาตรการกันสำรองฯ ร้อยละ 30 ไว้ โดยเหตุผลหลักเพื่อป้องกันเงินทุนไหลเข้าและเงินบาทแข็งค่า ขณะที่กลุ่มคนที่ทำงานในตลาดเงินและตลาดทุนเสนอให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว โดยมีเหตุผลหลักเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
ผมคิดว่ามาตรการนี้ไม่ควรถูกนำมาใช้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อใช้ไปแล้วการจะถอนออกทันทีคงไม่เหมาะสมและเห็นด้วยที่จะยกเลิกมาตรการนี้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ในระยะสั้น การตัดสินยกเลิกและไม่ยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 มีทั้งผลดีและผลเสีย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อถกเถียงเกี่ยวกับมาตรการนี้ ผมเห็นว่าข้ออ้างของฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ยังมีความไม่สมเหตุสมผลบางประการ
ประการแรก ความไม่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับความไม่มีประสิทธิภาพของมาตรการ
ฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรการกันสำรองฯ อ้างว่ามาตรการนี้ไม่สามารถควบคุมการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าแทรกแซงจนประสบภาวะขาดทุนจำนวนมาก
ข้ออ้างดังกล่าวดูเหมือนขาดเหตุผลเพียงพอ เพราะต้องไม่ลืมว่า เงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วในปี 2549 เกิดจากเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ จนทำให้ธปท.ต้องประกาศใช้มาตรการกันสำรองฯเมื่อเดือนธันวาคม 2549 และปัจจุบันมาตรการนี้ยังคงบังคับใช้กับเงินลงทุนในตลาดตราสารหนี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นไปได้ว่า หากยกเลิกมาตรการนี้อาจทำให้มีเงินทะลักเข้ามาในตลาดตราสารหนี้จำนวนมาก เพราะปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงทำให้ราคาพันธบัตรมีแนวโน้มสูงขึ้น
นอกจากนี้ หากมาตรการกันสำรองฯ ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ และการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทแล้ว การยกเลิกหรือไม่ยกเลิกมาตรการนี้จึงมีผลไม่แตกต่างกันมากนักในแง่การทำให้บรรลุเป้าหมายเสถียรภาพค่าเงินบาท ดังนั้นการอ้างว่ามาตรการนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการดูแลค่าเงินบาท จึงไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงในการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการกันสำรองฯ
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ ธปท.แทรกแซงค่าเงินบาทจนขาดทุนมากถึง 2 แสนล้านบาทในรอบ 2 ปีนั้น การยกเลิกมาตรการกันสำรองฯอาจไม่ทำให้ขาดทุนลดลง ในทางตรงกันข้ามอาจจะขาดทุนมากขึ้นก็เป็นได้ เพราะหากยกเลิกมาตรการฯแต่ ธปท.ยังแทรกแซงค่าเงินบาทอยู่ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จะทำให้ ธปท.ต้องใช้เงินบาทแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น (มีความเสี่ยงจะขาดทุนมากขึ้น) และเงินบาทที่แข็งค่ายังทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อยู่ในเงินทุนสำรองมีมูลค่าในรูปเงินบาทลดลงด้วย
ประการที่สอง ความไม่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน
ฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิกมาตรการกันสำรองฯ เชื่อว่ามาตรการนี้ส่งผลกระทบทางจิตวิทยา ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจไทยและไม่กล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะกลัวว่าเงินที่นำเข้ามาลงทุนจะต้องถูกหักเพื่อกันสำรองหรือกลัวว่าภาครัฐจะประกาศมาตรการควบคุมเงินทุนออกมาอีก
หากพิจารณาความเชื่อที่ว่า นักลงทุนไม่ทราบข้อมูลว่า ธปท.ได้ยกเลิกการใช้มาตรการกันสำรองส่วนใหญ่แล้ว เหลือเพียงการบังคับใช้กับเงินลงทุนในตลาดตราสารหนี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งย่อมต้องมีการศึกษาข้อมูล และมีช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยเป็นอย่างดี
ส่วนความเชื่อที่ว่า การยกเลิกมาตรการฯจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่การไม่ยกเลิกมาตรการนี้จะทำให้เกิดความกลัวว่าจะมีมาตรการใหม่ออกมาอีก หรือมีการใช้มาตรการนี้รุนแรงขึ้น หากวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมการคาดการณ์ของนักลงทุน การประกาศใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือ (credibility) ของผู้กำหนดนโยบายของไทยสูญเสียไปแล้ว นักลงทุนจึงไม่เชื่อว่าจะไม่มีมาตรการใหม่ ๆ ออกมาอีก หากค่าเงินบาทเกิดความผันผวนอย่างรุนแรง ดังนั้นแม้มีการยกเลิกมาตรการนี้แล้ว ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจฟื้นตัวขึ้นบ้างแต่คงไม่มากนัก
นอกจากนี้ ผลกระทบของปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกขาดความเชื่อมั่น เพราะคาดการณ์ว่าจะเกิดการชะลอตัวและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการยกเลิกมาตรการกันสำรองฯ โดยหวังว่าจะเป็นตัวกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจึงเป็นไปได้ยาก เพราะนักลงทุนน่าจะชะลอการลงทุน และเน้นการลงทุนระยะสั้นมากกว่าการลงทุนระยะยาว มากยิ่งกว่านั้น การยกเลิกมาตรการกันสำรองฯ โดยขาดมาตรการรองรับ จึงมีความเสี่ยงมาก เพราะจะทำให้ประเทศไทยขาดเครื่องมือในการป้องกันความไร้เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ
ผมเห็นว่า การลงทุนและใช้จ่ายของภาครัฐควรเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ส่วนนโยบายที่เกี่ยวกับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนควรเน้นการรักษาเสถียรภาพ ไม่ใช่การกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นการคงมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ไว้ น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปลอดภัยมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ลำพังเพียงมาตรการกันสำรองฯนั้นไม่เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพค่าเงินได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการใช้มาตรการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งผมเห็นว่า ธปท.ควรใช้มาตรการอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าการแทรกแซงค่าเงินบาท อาทิ การลดอัตราดอกเบี้ย การสนับสนุนการออกไปลงทุนในต่างประเทศ การเร่งชำระหนี้ต่างประเทศ และการสนับสนุนการนำเข้าเครื่องจักร ฯลฯ
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
เมื่อ: 
2008-03-04