ตรวจสอบความเสี่ยง... สถานะการเงินของมหาวิทยาลัย

ldquo;มหาวิทยาลัยrdquo; เป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง ที่มีส่วนสำคัญในการผลิตกำลังคน องค์ความรู้ การวิจัยและการบริการวิชาการของประเทศ ดังนั้น การคงไว้ซึ่งคุณภาพการศึกษาและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจึงต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด แต่การจะพัฒนาคุณภาพการจัดการอุดมศึกษาได้ จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ในแต่ละปีรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการจัดการอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเองได้พยายามพัฒนาระบบการจัดสรรทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดการด้านการเงินจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการอุดมศึกษา
ตัวอย่างของประเทศอังกฤษ ให้ความสำคัญกับสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยอย่างมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ดังนั้น มหาวิทยาลัยใดที่มีสถานะทางการเงินไม่ดีหรือไม่คล่องตัว จึงอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อคุณภาพการศึกษาที่ลดลงได้ อันส่งผลให้ความนิยมของประชาชนลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งกระทบต่อรายได้ของประเทศที่ได้จากการให้บริการระดับการอุดมศึกษาในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ จึงต้องแน่ใจว่ามหาวิทยาลัยในอังกฤษ คงไว้ซึ่งคุณภาพการศึกษาในระดับสากล โดยดูจากสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษให้แต่ละมหาวิทยาลัยพึ่งพาตนเองมากขึ้น แต่รัฐก็ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ ซึ่งสภาจัดสรรงบประมาณอุดมศึกษาแห่งอังกฤษ (Higher Education Funding Council for England: HEFCE) เป็นหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่จัดสรรงบให้กับมหาวิทยาลัย รวมถึงตรวจสอบสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยรัฐในอังกฤษ HEFCE เห็นว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษาในอังกฤษ ได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลกในเรื่องคุณภาพ ซึ่งสิ่งนี้ช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรเรื่อยมา เพื่อรักษาความนิยมไว้
นอกจากมหาวิทยาลัยต้องมีการบริหารจัดการที่ดีแล้ว ควรมีความเสี่ยงด้านการเงินต่ำด้วย โดย HEFCE ทำหน้าที่ตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยมีแผนดูแลสถานะทางการเงินเป็นอย่างไร สถานะทางการเงินอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือใกล้เคียงกับความเสี่ยงหรือไม่ แล้วเรียงลำดับมหาวิทยาลัยที่มีความเสี่ยงมากไปจนถึงความเสี่ยงน้อย และไม่มีความเสี่ยงเลย ซึ่งข้อมูลนี้ต้องเปิดต่อประชาชน ภายใต้บทบัญญัติด้านเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณชน เป็นข้อดีที่ทำให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงตัวเองได้ทันท่วงที
มหาวิทยาลัยในอังกฤษที่มีสภาวะทางการเงินอยู่ในระดับเสี่ยง มีสาเหตุหลักมาจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอ และแผนการตลาดที่ไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เมื่อมหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะเสี่ยง HEFCE จะใช้ยุทธศาสตร์เพื่อการสนับสนุนในหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะได้รับการสนับสนุนต่างกันไป อาทิ ให้คำปรึกษาหรืออาจได้รับการสนับสนุนงบเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขความเสี่ยง ศาสตราจารย์เดวิด อีสท์วูด (Prof. David Eastwood) ผู้บริหารระดับสูงของ HEFCE กล่าวว่า การแก้ไขสภาวะเสี่ยงทางการเงินใช้เวลาประมาณ 3 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยมีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับเสี่ยงมาก และมีจำนวนมากได้ปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งได้นำเสนอสู่สาธารณชนเช่นเดียวกัน
หากกลับมาย้อนมองดูการตรวจสอบสภาวะทางการเงินมหาวิทยาลัยไทย แทบจะไม่มีการดำเนินการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจน แต่จะเป็นการดำเนินการของแต่ละมหาวิทยาลัย จากรายงานการวิจัยเรื่อง แนวทางการจัดระบบงบประมาณและการลงทุนเพื่ออุดมศึกษา (2546) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย ศ.บุญเสริม วีสกุล และคณะ ผลการวิจัยได้วิเคราะห์ปัญหาการเงินของมหาวิทยาลัยไว้ว่า มีปัญหาเรื่องปีการศึกษาและปีงบประมาณที่ไม่ตรงกัน ทำให้ยากต่อการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดินและงบรายได้ของมหาวิทยาลัย จึงไม่เห็นภาพรวมทางการเงินของมหาวิทยาลัย อีกทั้ง การบริหารการเงินจากงบประมาณแผ่นดินและนอกงบประมาณแผ่นดินมีมาตรฐานต่างกัน การเงินและบัญชีทำในรูปแบบเงินสด ทำให้ไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริงของการดำเนินการ การใช้งบตามคณะและภาควิชา ไม่มีการเปิดเผยหรือเปิดเผยเพียงบางส่วน การเงินในโครงการพิเศษยังไม่มีการควบคุม อีกทั้งหลายโครงการทำขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และไม่มีการระดมทรัพยากรเพื่อนำมาใช้สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดกับมหาวิทยาลัยเอกชน
นอกจากนั้น เมื่อมีการนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะมีอำนาจในการบริหารจัดการ การใช้จ่ายเงินร่วมถึงการระดมทุนเป็นของตัวเองอย่างค่อนข้างเป็นอิสระ หากขาดการจัดระบบการตรวจสอบ ย่อมเสี่ยงต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาและกระทบถึงค่าเล่าเรียนของผู้เรียนอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งหากเกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการหรือคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐานและรัฐไม่ได้รับรู้และเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที ก็จะกระทบต่อตัวผู้เรียนโดยตรงได้
ตัวแบบประเทศอังกฤษที่มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ตรวจสอบภาวะทางการเงินของมหาวิทยาลัยนั้น เป็นเรื่องน่าสนใจ ดังนั้นหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและลองศึกษาเพิ่ม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดในการวางแผนการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อการจัดการอุดมศึกษาไทย ต่อผู้เรียนและต่อสังคมไทย อีกทั้งควรให้มีการรายงานสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ ต่อสาธารณชน แต่ทั้งนี้ต้องมีกฎหมายรองรับ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยมากเกินไป
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2008-02-27