ฮาร์วาร์ดแบบอย่างงานแนะแนวผู้เรียน

การแนะแนวแก่นักศึกษา เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญ โดยตั้งสำนักงานเพื่อให้บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ภายใต้ชื่อ ldquo;Offiice of career servicerdquo;
หน่วยงานนี้มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการให้คำปรึกษา แนะแนวทางการเรียน การเลือกวิชาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการประกอบอาชีพของนักศึกษาทุกระดับ โดยให้คำแนะนำแก่นักศึกษาตั้งแต่ปีหนึ่งในการเลือกวิชาเรียน การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเลือกอาชีพในอนาคต การให้ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น รวมถึงการฝึกงานทั้งในและนอกประเทศ
สำนักงานนี้ได้อำนวยความสะดวกด้านข้อมูลแก่นักศึกษาในหลายรูปแบบ
การให้คำปรึกษาผ่านผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น ศิลปะ ธุรกิจ การศึกษา การทำงานในภาครัฐ กฎหมาย สื่อมวลชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ รวมถึงการฝึกงาน การเรียนในภาคฤดูร้อน และการศึกษาต่อ เป็นต้น ซึ่งนักศึกษาจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเรียน และการทำงานที่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญและความถนัดของนักศึกษาแต่ละคน
ห้องสมุดเฉพาะทางเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ รวมรวบข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานในภาคฤดูร้อน การฝึกงาน ข้อมูลจำเพาะของสาขาอาชีพต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับนายจ้าง การเขียนโครงการ เพื่อขอทุนสนับสนุนการฝึกอาชีพ การเขียนประวัติย่อ แนวทางการสอบสัมภาษณ์ในการสมัครงานในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสค้นคว้าหาข้อมูลที่จากแหล่งที่หลากหลาย เพื่อใช้ช่วยตัดสินใจในการเลือกและเข้าสู่อาชีพ
การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ซึ่งมีการจัดกิจกรรมตลอดปี เพื่อแนะนำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์ในอาชีพต่าง ๆ อย่างเฉพาะเจาะจง รวมถึงยังมีการอบรมเกี่ยวกับการเขียนประวัติเพื่อสมัครงาน การลองสอบสัมภาษณ์จริง เพื่อให้นักศึกษาพัฒนาทักษะในการสมัครงานเพิ่มเติม
นอกจากนี้สำนักงานแห่งนี้ยังได้มีกิจกรรมพิเศษคือ การจูงใจให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการทำงานบริการสังคม (Public Service) โดยในแต่ละภาคเรียนจะมีการอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพ ช่องทางที่นักศึกษาสามารถมีส่วนร่วมในการบริการสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนักศึกษาสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งในระหว่างที่กำลังศึกษา หรือจบการศึกษาออกไปแล้ว
สำนักงานแห่งนี้จึงเป็นมากกว่า ห้องให้คำปรึกษา ที่แนะนำนักศึกษาเพียงผิวเผิน หากแต่เป็นแหล่งข้อมูล แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมก่อนนักศึกษาจะจบออกไปเผชิญโลกแห่งการทำงานในอนาคต
แนวทางข้างต้นนี้นับเป็นต้นแบบที่ดีเกี่ยวกับการจัดระบบให้คำปรึกษา แนะแนวของไทยจะนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการตัดสินใจ เลือกเรียน เลือกอาชีพที่เหมาะสม สอดคล้องกับความถนัด และความเชี่ยวชาญของตนได้ โดยควรเริ่มตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีการแนะแนวที่ต่อเนื่องจนถึงในระดับอุดมศึกษา ประเด็นที่ควรแนะนำแก่นักเรียนนักศึกษา ได้แก่
การรู้จักตนเองและตระหนักในคุณค่าของตนเอง การที่ผู้เรียนรู้จักตนเอง จะมีส่วนช่วยในการคิดและตัดสินใจเลือกเรียนหรือทำงานที่สอดคล้องกับความถนัด ความเชี่ยวชาญของตนเอง ส่งผลให้การศึกษาเป็นประโยชน์สูงสุด ไม่เฉพาะต่อผู้เรียนเอง แต่ต่อภาพรวมของสังคมด้วย
การตั้งเป้าหมายชีวิต อุดมการณ์ และความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม เป็นผลที่ตามมาหลังจากรู้จักตนเองและเห็นคุณค่าตนเองแล้ว จะเริ่มมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นในลำดับต่อไป เพื่อขีดเส้นทางเดินของชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนมิได้เรียนเพียงเพื่อสอบให้ผ่าน แต่จะเรียนเพื่อแสวงหาความรู้มาพัฒนาตนเอง และสังคมต่อไป
ทักษะทางสังคม บุคลิกภาพที่เหมาะสมกับอาชีพ อาทิ การสร้างสัมพันธภาพ การสื่อสาร การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี การทำงานเป็นทีม การปรับตัว มารยาทในสังคม ฯลฯ เป็นศิลปะในการปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นปกติและมีความสุข ได้รับการยอมรับ มีคนให้ความร่วมมือ ยินดีช่วยเหลือ
แนวทางเลือกอาชีพและการทำงานในอนาคต อาทิ ข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับภาวะของตลาดแรงงาน อาชีพใดที่เป็นที่ต้องการและมีปริมาณเท่าใดอาชีพใดกำลังอยู่ในภาวะเกินความต้องการ ข้อมูลเหล่านี้ถือได้ว่า มีประโยชน์ต่อผู้เรียนในการเลือกที่จะวางแผนในการศึกษาต่อ เพื่อให้มีทักษะความรู้ ความชำนาญที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต หรือแม้แต่การเลือกวิชาเรียนที่เป็นการพัฒนาทักษะที่สอง เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของซึ่งอาจจะนำไปสู่การไม่มีงานทำ
ในสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ได้ส่งอิทธิพลต่อนักเรียน นักศึกษาจำนวนไม่น้อยอาจสับสนในการเลือกอาชีพ เลือกศึกษาต่อจากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย การแนะแนวจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น แนะนำ ช่วยเหลือให้นักเรียน นักศึกษานำข้อมูลข่าวสาร กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล และแสวงหาความรู้ นำมาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเอง และการทำงานต่อไป
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-02-08