บีบเค้นเด็กอนุบาล... เร่งอ่าน เขียน คณิต จะดีจริงหรือ!!!


* ที่มาของภาพ - http://61.7.154.146/dep/anuban/images/act50_01.jpg
พ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการวางรากฐานความรู้ด้านวิชาการเด็กปฐมวัยอย่างมาก โดยเฉพาะทักษะทางภาษาและคณิตศาสตร์ เนื่องจากต้องการให้เด็กสอบเข้าเรียนระดับประถมศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จึงเป็นเหตุให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยจัดหาครูสอนพิเศษ หรือส่งเด็กเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลที่ให้ความรู้ด้านวิชาการ โดยไม่เข้าใจถึงความพร้อมของเด็กและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้มอบหมายให้ รศ. ดร.ภรณี คุรุรัตนะ ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะ จัดทำรายงานเรื่อง กระบวนทัศน์ใหม่ของการศึกษาปฐมวัย เมื่อปี 2542 งานวิจัย อธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยมีลักษณะเฉพาะตัว เด็กจะเรียนรู้ได้ดีผ่านการเล่นและทำกิจกรรมที่หลากหลาย เป็นกิจกรรมที่เปิดกว้างให้อิสระเหมาะสมกับวัย ไม่เพียงเด็กจะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านทักษะการคิด ทักษะทางสังคม และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็กอีกด้วย ในโรงเรียน ครูมีบทบาทในการจัดประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
ในสหรัฐอเมริกา พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากไม่นิยมส่งลูกไปยังสถานเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยตามปกติทั่วไป แต่หันมาให้ลูกเรียนพิเศษ เพื่อพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์และการอ่าน เพราะมองว่า หากบุตรหลานของตนสามารถอ่านและมีทักษะด้านคณิตศาสตร์ก่อนเข้าเรียน มีแนวโน้มที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีและมีงานทำที่ดีในอนาคต ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ธุรกิจสอนเด็กปฐมวัยเจริญเติบโตอย่างมาก อาทิ ศูนย์การเรียนรู้ซิลแวน (Sylvan Learning Centers) สอนพัฒนาการด้านการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์เบื้องต้น ปัจจุบันมีถึง 1,100 แห่งในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมี ศูนย์คุมอง (Kumon) ธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่น สอนคณิตศาสตร์ หลักสูตรการอ่านตัวอักษร (pre-K crowd) ให้เด็ก 3 ขวบ และฝึกอ่านผ่านคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันเปิดกิจการในสหรัฐฯ กว่า 1,300 แห่ง
นักวิชาการและนักจิตวิทยาในสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเห็นว่า การเร่งพัฒนาทักษะวิชาการเด็กปฐมวัย ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ศาสตราจารย์เดวิด เอลไคนด์ (David Elkind) มหาวิทยาลัยทัฟท์ส ผู้เขียนหนังสือ ldquo;The Hurried Childrdquo; กล่าวว่า แท้จริงแล้วการเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กปฐมวัยคือ การเรียนรู้ผ่านการเล่น ดอกเตอร์แมรี่แอน วูลฟ์ (Maryanne Wolf) หัวหน้าศูนย์วิจัยการอ่านและภาษา (Center for Reading and Learning Research) มหาวิทยาลัยทัฟท์ส (Tufts University) กล่าวว่า เด็กไม่มีความพร้อมในการอ่านจนกว่าอายุ 5 ขวบ การเร่งการพัฒนาการจะทำให้เด็กมีปัญหาด้านสังคมและอารมณ์ ศาสตราจารย์โรเบอร์ต้า มิชนิค โกลินคอฟฟ์ (Roberta Michnick Golinkoff) ศึกษาผลกระทบของการเร่งพัฒนาทักษะวิชาการเด็ก พบว่า เด็กที่มาจากศูนย์การเรียนที่เน้นวิชาการ มีความเครียดสูงและมีความคิดสร้างสรรค์ต่ำกว่าเด็กที่เรียนในศูนย์รับเลี้ยงเด็กปกติ
ประเทศไทย พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมส่งเด็กลูกเข้าเรียนในศูนย์การเรียน หรือโรงเรียนอนุบาลที่เน้นสอนให้เด็กอ่านเขียนภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และคณิตศาสตร์ เพราะต้องให้เด็กสอบเข้าเรียนระดับประถมศึกษาในโรงเรียนชื่อดัง ที่มีผู้สมัครจำนวนมาก และไม่สามารถรับนักเรียนเข้าเรียนได้ทั้งหมด จึงใช้วิธีคัดเลือกโดยการทดสอบการอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ ตรรกศาสตร์ ความสามารถทางสมอง แต่การเร่งการอ่านออกเขียนได้ ความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยไม่สนใจพัฒนาการด้านอื่น เป็นสิ่งที่ผิดหลักการพัฒนาเด็กปฐมวัย เด็กปฐมวัยจำนวนไม่น้อยที่ไม่พร้อมสำหรับการพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ จนส่งผลเสียไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ แม้โรงเรียนอนุบาลเข้าใจหลักการนี้ดี แต่จำเป็นต้องจัดการศึกษาตามความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เด็กปฐมวัยบางคนมีศักยภาพในการเรียนรู้เกินวัย สามารถสนับสนุนการเรียนด้านวิชาการได้ แต่ไม่ควรทิ้งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเล่นและการปฏิสัมพันธ์ เพราะสำคัญต่อการพัฒนาด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมของเด็กในอนาคต ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการเร่งพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เก่งด้านวิชาการ รวมถึงศึกษาการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับพัฒนาการและศักยภาพของเด็กปฐมวัย

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-02-11