มหาวิทยาลัยสีเขียว อีกหนึ่งความห่วงใยใส่ใจสังคม



มหาวิทยาลัยสีเขียว นับเป็นโครงการหนึ่งที่ฮาร์วาร์ดได้รณรงค์สร้างจิตสำนึกที่ดีแก่บุคลากร นักศึกษาให้หันมาใส่ใจสภาพแวดล้อม มีส่วนช่วยลดปริมาณของเสีย ขยะ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย
ความเอาจริงเอาจังในการรณรงค์ การสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียวของฮาร์วาร์ดนั้นเห็นได้จาก
การจัดตั้งหน่วยงานและกลุ่มความสนใจเฉพาะทาง เพื่อกำกับดูแลงานรักษาสิ่งแวดล้อมให้ขับเคลื่อนไปได้ งานด้านสิ่งแวดล้อมนี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักปฏิบัติการด้านบริการ (University Operations Services) ที่มีแผนกสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัย (Environmental Health amp; Safety:EHamp;S) ทำหน้าที่ประสานและผลักดันงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับทุกคณะ วิทยาลัยและประชาคมในมหาวิทยาลัยเพื่อทำให้งานด้านนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
การรณรงค์สร้างจิตสำนึก ผ่านการทำงานของคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมชุดต่าง ๆ กลุ่มงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงโครงการส่งเสริมสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ยุทธศาสตร์ที่ใช้ ได้แก่
การผลักดันให้งานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในรูปของการประกอบการเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ ldquo;The Harvard Green Campus Initiativerdquo; ที่นำแนวคิด ผลการวิจัยด้านการลดปริมาณขยะ มลพิษ ไปขายให้แก่คณะ วิทยาลัยต่าง ๆ ที่ต้องการพัฒนางานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม
การเผยแพร่แนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อปลุกจิตสำนึกของประชาคม ช่องทางสื่อสารมีตั้งแต่ เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่เวียนไปถึงเจ้าหน้าที่และทุกคน โดยนำเสนอวิธีการง่าย ๆ ที่สามารถทำในชีวิตประจำวัน และแนวทางปฏิบัติที่ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะ และการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
การบังคับใช้มาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ฮาร์วาร์ดได้กำหนดให้การรักษากฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาระเบียบของผู้ปฏิบัติงานทุกคน หากใครฝ่าฝืนหรือละเมิดจะมีความผิดทางวินัย
การประกาศความสำเร็จแก่ประชาคมอยู่เสมอ ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยอย่างหนึ่งคือ การจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมนำเสนอต่อประชาคม เพื่อให้ประชาคมทราบความคืบหน้า และผลการดำเนินงานของโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมมือกันทำ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จ และเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
หันกลับมามองประเทศไทย ขณะนี้การรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันภาวะโลกร้อน นับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากทุกหน่วยงาน และเป็นกระแสที่มีการพูดถึงกันข้ามปี โครงการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนจากหลายหน่วยงานเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตื่นตัวในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
แนวทางดังกล่าวนับว่าเป็นแนวคิดที่ดีในการปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้มีส่วนร่วมคนละเล็กน้อย เพื่อให้สังคมและโลกน่าอยู่ขึ้น อย่างไรก็ตามข้อคิดที่ได้จากฮาร์วาร์ดนี้ เป็นเหมือนการจุดประกายแก่มหาวิทยาลัย ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกที่ดีห่วงใยส่วนรวมแก่ผู้เรียน
การรณรงค์ปลุกจิตสำนึกที่ดี ซึ่งอาจอาศัยการสื่อสารหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ ที่บรรจุแนวคิดเหล่านี้ไว้ในการเรียนการสอน กิจกรรมนอกห้องเรียน การสนับสนุนกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวคิด เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาได้เรียนรู้และเกิดจิตสำนึกที่ดีผ่านการอบรมบ่มเพาะ
การส่งเสริมความคิดริเริ่มการสร้างนัวตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในภาคปฏิบัติ และอาจเพิ่มศักยภาพการวิจัย โดยการดึงกลุ่มคนทำงานเข้าร่วมทำโครงการวิจัยกับมหาวิทยาลัย เพื่อการสร้างและพัฒนานวัตกรรมเชิงประยุกต์และเชิงสร้างสรรค์ การจูงใจภาคธุรกิจบริจาคเพื่อการวิจัยเชิงสังคม อันเป็นการขยายแนวคิดไปสู่วงกว้างมากขึ้น
การเผยแพร่ผลงานและความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของประชาคม รวมถึงการให้รางวัลแก่บุคคล ฝ่าย กลุ่มกิจกรรมที่สนับสนุนกิจกรรมจนเห็นการตื่นตัวของประชาคม เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบถึงความสำเร็จร่วมกัน อันจะทำให้มีกำลังใจที่จะปฏิบัติหน้าที่และการดำเนินงาน รวมถึงเป็นกรณีศึกษาที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ผมเห็นว่า การปลูกฝังในลักษณะนี้ สามารถประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นได้อีก ซึ่งอาจไม่ได้จำกัดเพียงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีประเด็นอื่น ๆ เช่น การมีจิตสาธารณะ การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ที่จะเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดีแก่ผู้เรียนให้มีส่วนเสริมสร้างสังคมให้ดีขึ้น ประเทศได้รับการพัฒนาต่อไป
* นำมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐสยามรัฐสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25-31 มกราคม 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-02-07