ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง

ภายหลังการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการประกาศวันเลือกตั้ง ประเด็นเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ ภาวะเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร
ผมจึงใคร่ขอแสดงความเห็นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังการเลือกตั้งปลายปี 2550 นี้ โดยวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจ 2 ประการ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรทางเศรษฐกิจ
ก. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง จะมีปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจแตกต่างจากปี 2550 เพราะอุปสงค์ภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศจะชะลอตัวลง แตกต่างจากปี 2550 ที่เศรษฐกิจขยายตัวเนื่องจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยอธิบายในแต่ละองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศได้ดังนี้
1) การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้น

แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหลังการเลือกตั้งน่าจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจาก

ปัจจัยแรก
คือ ผลจากการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ประมาณว่าจะมีเงินสะพัดจากการเลือกตั้ง 3 ndash; 4 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 0.5% GDP) จากงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งที่สูงถึง 4 พันล้านบาท และการใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อหาเสียงของพรรคการเมืองและนักการเมือง การใช้จ่ายเหล่านี้จะกระตุ้นอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ขยายตัวขึ้น
ปัจจัยที่สอง เป็นปัจจัยด้านจิตวิทยา คือ ความมั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมือง การมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง จะช่วยให้ภาคเอกชนจะเกิดความมั่นใจที่จะขยายการบริโภคและการลงทุนต่อไปได้และ ทำให้เศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง ขยายตัวดีขึ้น แต่มีความเป็นไปได้ว่า ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน อาจไม่ดีขึ้นมากนัก หากรัฐบาลที่จะเข้ามาคาดว่าจะเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะขาดเสถียรภาพ ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลใดก็ตาม อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่คาดว่าจะกลับมาหลังการเลือกตั้ง อาจไม่ดีขึ้นมากนักทำให้การบริโภคและการลงทุนไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดการณ์ไว้ และทำให้เศรษฐกิจหลังเลือกตั้งยังคงชะลอตัวก็เป็นได้
ปัจจัยสุดท้าย คือ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ในช่วงที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำ

เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนที่ซบเซา และป้องกันเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไร ประกอบกับ การที่ธนาคารกลางของสหรัฐเพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ร้อยละ 5 เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากปัญหาซับไพรม์ อาจทำให้ในอนาคต ธปท.พิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพื่อป้องกันเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า และ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยในอนาคตและช่วงหลังเลือกตั้งอาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หาก ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
2) การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น
ผลพวงจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณตลอด 5 ปีของการบริหารประเทศ
ทำให้ประชาชนยังคงยึดติดโครงการด้านสินเชื่อรายย่อยและนโยบายกระตุ้นการบริโภค ดังนั้นไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีโครงการประชานิยมเพื่อรักษาคะแนนนิยมไว้
ประกอบกับการจัดงบประมาณประจำปี 2551 ในแบบขาดดุลกว่า 1.6 แสนล้านบาท ปัจจัยเหล่านี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2551 เติบโตขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของรายจ่ายภาครัฐใน GDP ของประเทศนั้นไม่สูงนัก การใช้จ่ายของรัฐบาลใหม่จึงมีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจำกัดอยู่เพียงระดับหนึ่ง
ถึงกระนั้น หากรัฐบาลสามารถผลักดันโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน หรือรถไฟฟ้า ให้เริ่มต้นดำเนินการได้ในปลายปี 2550 ตามที่รัฐบาลได้คาดหมายไว้ เงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวจะเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวรวมทั้งยังกระตุ้นให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่บริเวณใกล้กับเส้นทางรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สามารถลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ได้ เนื่องจาก
หาแหล่งเงินกู้ไม่ได้ โครงการยังขาดความชัดเจน หรือ ไม่สามารถหาเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาร่วมดำเนินการได้ เป็นต้นจะทำให้เศรษฐกิจปี 2551 จะชะลอตัวลง แต่หากเร่งผลักดันการลงทุนขนาดใหญ่ สามารถเปิดประมูล และทำสัญญาเริ่มต้นได้เร็วพอ อาจช่วยรักษาอัตราการเจริญเติบโตในระดับเดิมไว้ได้เป็นอย่างน้อย
3) การค้าระหว่างประเทศชะลอตัว
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยด้านการค้าระหว่างประเทศไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมากนัก ดังนั้นการเลือกตั้งจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยตรง แต่จะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและการค้าของโลกเป็นหลัก ซึ่งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในช่วงปลายปีนี้และปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนมากขึ้น
ข. เศรษฐกิจอาจมีปัญหาเสถียรภาพภายใน
บทความนี้จะพิจารณาเสถียรภาพเศรษฐกิจจาก 3 ตัวแปร คือ อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการว่างงาน และดุลบัญชีเดินสะพัด
1) อัตราเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ คือ ราคาน้ำมัน ใน

ปี 2551 แนวโน้มราคาน้ำมันโลกกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความต้องการในการบริโภคน้ำมันไม่เพิ่มขึ้นมาก ย่อมส่งผลให้ ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยไม่เพิ่มขึ้นมากนักเช่นกัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อด้วย คือ การลงทุนในประเทศ หากมีการลงทุนในประเทศมาก อาจกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยนี้คาดว่าจะไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มเกินเป้าหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
2)อัตราการว่างงาน
สำหรับอัตราการว่างงานหลังการเลือกตั้งน่าจะอยู่ที่ระดับต่ำต่อไป เนื่องจากตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานที่ต่ำมากเพียงประมาณร้อยละ 1-2 เท่านั้น และเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งน่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
3)ดุลบัญชีเดินสะพัด
ถึงแม้ในขณะนี้การส่งออกยังคงขยายตัวสูง และการนำเข้ามีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัว แต่ใน

ปี 2551 มีความเป็นไปได้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดหลังการเลือกตั้งอาจมีแนวโน้มเป็นบวกลดลงจนกระทั่งเริ่มติดลบ เพราะหากยังคงมีเงินทุนไหลเข้าประเทศอย่างมาก ค่าเงินบาทจะยังคงแข็งค่าต่อไป จึงทำให้การเติบโตของปริมาณการส่งออกลดลง และทำให้การเติบโตของปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากขึ้น
หากแนวโน้มข้างต้นเกิดขึ้นจริง แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปจากแรงขับเคลื่อนจากภายนอกเป็นแรงขับเคลื่อนจากภายใน และเปลี่ยนจากปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความท้าทายในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญ จะเปลี่ยนไปจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการคาดการณ์ต่อสภาพสังคมการเมืองและเศรษฐกิจไทยที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง 2550 จากปัจจัยแวดล้อมที่เป็นอยู่และที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น อันจะทำให้เราเตรียมพร้อมและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2551 อย่างเข้าใจและระมัดระวัง
admin
เผยแพร่: 
วารสารสภาที่ปรึกษา
เมื่อ: 
2007-07-01