มหาวิทยาลัยกับการมีส่วนร่วมสร้างนักวิจัย

* ที่มาของภาพ - http://th.kapook.com/upload/media_library/5903.jpg

เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมานี้ สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดสัมมนาเผยแพร่การสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาประเทศประจำปี 2550 โดยมีประเด็นที่น่าห่วงใยคือ แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีนักวิจัยและงานวิจัยจำนวนมากขึ้น แต่ยังถือว่าขาดแคลนอยู่มากในทุกสาขาวิชาชีพ โดยหากเทียบกับต่างประเทศ มีนักวิจัย 50 คน ต่อประชากร 50,000 คน ขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 3 คนต่อประชากร 10,000 คน

ขณะนี้ทาง วช. ได้วางนโยบายและแผนพัฒนาเพื่อเร่งสร้างนักวิจัย ซึ่งผมเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ขณะเดียวกัน เราต้องไม่ละเลยในการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยมีส่วนเพิ่มจำนวนนักวิจัยในสังคม ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ จากการที่ผมได้ใช้เวลาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะนักวิชาการอาวุโส ผมเห็นว่า การเรียนการสอนของที่นี่มีส่วนส่งเสริมและสร้างนักวิจัยที่มีคุณภาพ และคิดว่าเป็นเรื่องที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในบ้านเราควรเรียนรู้

ฮาร์วาร์ดเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างนักวิจัยออกสู่สังคม เห็นได้จากบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลโนเบล 75 รางวัล และได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 จากThe Academic Ranking of World Universities โดยมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวถง ซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์ของผลงานวิจัยของสถาบัน
หัวใจสำคัญของการสร้างนักวิจัยของที่นี่ คือ
การส่งเสริมคุณภาพการวิจัยควบคู่การพัฒนาการเรียนการสอนที่สอดรับกัน กล่าวคือ สอนให้ผู้เรียนรู้จักค้นคว้า ฝึกฝนทักษะการคิด การทำวิจัยในทุกวิชา และทุกระดับ เน้นให้นักศึกษาสร้างผลงานวิจัยต้นแบบ เป็นนวัตกรรม การเปิดโอกาสให้เขียนตำราวิชาการร่วมกับผู้สอน ในขณะที่อาจารย์ต้องมีผลงานวิจัยออกมาเสมอ

การขับเคี่ยวกันในการสร้างผลงานวิจัยเหล่านี้ จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า ทั้งนักศึกษาและผู้สอน จะตกผลึกความคิด จนมีงานวิจัยที่มีคุณค่าสูงออกมาอยู่เสมอ

หันกลับมามองประเทศไทย สิ่งสำคัญมหาวิทยาลัยของไทยควรเร่งรีบดำเนินการสร้างนักวิจัย ได้แก่

การเรียนการสอนที่อยู่บนฐานการวิจัย
เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยด้วย เช่น การสอนแบบให้ผู้เรียนนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัย กำหนดทิศทางและหัวข้อวิจัยภายในสาขาที่เรียน ฝึกประสบการณ์ด้านการวิจัย มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนหรือเปิดโลกทัศน์ทางการวิจัยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิภายในและภายนอก กระตุ้นบรรยากาศการวิจัยและนำเสนอผลงานในเวทีที่มีการวิพากษ์แนวคิด เป็นต้น

การเพิ่มคุณภาพงานวิจัย
และการนำไปใช้ประโยชน์ อาจเริ่มจากมหาวิทยาลัยเป็นผู้ริเริ่มนำเสนองานวิจัยที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อตลาดหรือแหล่งทุนต่าง ๆ

แม้ว่าสภาพการแข่งขันในธุรกิจการศึกษาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ หากแต่มหาวิทยาลัยต้องไม่ลืมแก่นสารที่แท้จริงของมหาวิทยาลัยคือ การสอนและการวิจัย ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป อันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว

แสดงความคิดเห็น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-01-22