ปัจจัยด้านเศรษฐกิจกระตุ้นคนเกาหลีเรียนภาษาต่างประเทศ

ปัจจุบันการเปิดเสรีทางการค้าและบริการมีกว้างขวางมากขึ้น เกิดการค้า การบริการ และการลงทุนข้ามชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เนต ที่ผู้คนมีการติดต่อสื่อสารการรับข้อมูลและความรู้ระหว่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาภาษาต่างประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะภาษาที่เป็นสื่อกลางเป็นภาษาเศรษฐกิจในการติดต่อสื่อสาร เช่น ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน ฯลฯ

บทความนี้ นำเสนอมุมมองสู่ประเทศเกาหลีใต้เกี่ยวกับการพัฒนาภาษาต่างประเทศ เนื่องจากในอดีต ทักษะภาษาต่างประเทศของคนเกาหลีพอ ๆ กับคนไทย แต่ปัจจุบันคนเกาหลีสามารถฝ่าฟันกำแพงด้านภาษา โดยมีการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศให้กับคนของตนเองมากขึ้น โดยปัจจัยทางเศรษฐกิจด้านอุปสงค์เป็นตัวผลักดันที่สำคัญ

การค้าและการลงทุนผลักดันคนเกาหลีให้พูดภาษาต่างประเทศ

ภาษาต่างประเทศของเกาหลีที่ได้รับความสนใจในอันดับต้น ๆ คือ ภาษาจีน เพราะปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นหุ้นส่วนใหญ่ทางการค้าของเกาหลี โดยได้เพิ่มขึ้นจาก 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 1992 เป็น 118 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปลายปี 2006 รองลงมาคือ ภาษาอารบิก (Arabic) ซึ่งนักเรียนเกาหลีให้ความสนใจอย่างมาก ในการสอบเอนทรานซ์มีนักเรียนที่เลือกสอบภาษาอารบิกเพิ่มขึ้น จากจำนวน 599 คน ในปี 2005 เป็น 2,399 คน เมื่อปลายปี 2006 อธิการบดีมหาวิทยาลัย Hankuk University of Foreign Studies ในกรุงโซล นายปัก ซอล (Park Cheol) กล่าวว่า เกาหลีต้องกำลังคนที่พูดภาษาอารบิกได้ เพื่อเพิ่มจำนวนนักธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในประเทศแถบตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกัน ตำแหน่งงานในเกาหลีต้องการพนักงานที่มีทักษะภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 150 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 68,400 ตำแหน่ง ในปี ค.ศ. 2004 เป็น 102,600 ตำแหน่ง เมื่อปลายปี ค.ศ. 2006 ภาษาต่างประเทศที่เป็นที่ต้องการมาก ได้แก่ ภาษาจีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเวียดนาม เนื่องจากเกาหลีมีการขยายฐานการค้าไปยังต่างประเทศมากขึ้นทั้งในยุโรปและเอเชีย สหพันธ์อุตสาหกรรมประเทศเกาหลี (Federation of Korean Industries) กล่าวว่า 2 ใน 3 ของ 700 บริษัทชั้นนำของเกาหลี ได้ไปเปิดสาขาธุรกิจหรือเปิดบริษัทในต่างประเทศ อาทิ บริษัท อมอร์แปซิฟิค (Amore Pacific) ซึ่งผลิตเครื่องสำอางชั้นนำของเกาหลี มีแผนขยายตลาดไปสู่ยุโรปและจีน กำลังต้องการพนักงานที่สามารถพูดภาษาฝรั่งเศส และจีน หลายบริษัทได้สนับสนุนให้พนักงานแบ่งเวลาไปเรียนภาษาต่างประเทศ และบางบริษัทลงทุนจ้างครูสอนภาษาเข้ามาสอนพนักงานในช่วงพักกลางวันหรือหลังเลิกงาน

การเรียนภาษาต่างประเทศภาษาที่ 2 ของคนเกาหลี

การสนับสนุนการเรียนภาษาต่างประเทศของกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ ผนวกกับความกระหายอยากเรียนภาษาต่างประเทศของคนเกาหลี จึงมีการสนับสนุนสถานศึกษาในเกาหลี ให้เปิดสอนภาษาต่างประเทศหลายภาษา โรงเรียนมัธยมในเกาหลีใต้สอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐาน แต่นักเรียนสามารถเลือกภาษาต่างประเทศภาษาที่ 2 ได้ เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น อารบิก ฝรั่งเศส เยอรมัน และสเปน เป็นต้น การเรียนภาษาเหล่านี้ จะทำให้เกาหลีได้รับประโยชน์ในอนาคต เมื่อต้องติดต่อกับต่างประเทศ ไม่เพียงเท่านี้ สถาบันสอนภาษาในเกาหลียังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คาดการณ์กันว่าตลาดการสอนภาษาต่างประเทศของเอกชนในเกาหลีมีมูลค่าประมาณ 33.5 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 35.61 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณร้อยละ 4 ของ GDP และในอนาคต ความกระหายอยากเรียนภาษาต่างประเทศของคนเกาหลีจะเพิ่มสูงขึ้น (Lee Tee Jong, ldquo;The Language of Success,rdquo; Asianews, 14-20 Sep. 2007)

หากมองย้อนกลับมาสู่การพัฒนาและเรียนภาษาต่างประเทศของไทย

การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศของเด็กไทยกำหนดในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อยู่ในสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โดยให้ผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นหลัก สำหรับภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น อาหรับ บาลี และภาษากลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน หรือภาษาอื่น ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถานศึกษา ที่จะจัดทำรายวิชาประกอบการเรียนรู้ตามความเหมาะสม

นอกเหนือจากการเรียนภาษาต่างประเทศในโรงเรียนแล้ว เด็กไทยและประชาชนทั่วไปยังให้ความสนใจเข้าเรียนในสถาบันสอนภาษา เพื่อเสริมจากการเรียนในห้องเรียนและเพื่อไปใช้ในการทำงาน มีบุคคลสำคัญในสถาบันสอนภาษาหลายท่านออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันมีผู้ให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาต่างประเทศ ภาษาที่ 2 และ 3 จำนวนมาก เนื่องจากมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นตัวผลักดัน นายสมชัย ชัยชนะชูเชิด ผู้อำนวยการสถาบันสอนภาษา ควิกแอนด์อีซี่ส์ (Quick amp; Easy) ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันธุรกิจสอนภาษากำลังได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมีความต้องการจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 80 และกลุ่มวัยทำงานอีกร้อยละ 20

ภาษาต่างประเทศที่นิยมเปิดสอนมีหลายภาษา ภาษาอังกฤษยังเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมนางสมลักษณ์ แนบเกษร กรรมการผู้จัดการ สถาบันสอนภาษาอังกฤษแอลเอ อิงลิช (LA English) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนว่า ภาพรวมธุรกิจสถาบันสอนภาษาอังกฤษมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีบริษัทข้ามชาติเข้าลงทุนในไทยมากขึ้น ภาษาญี่ปุ่น มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าภาษาอังกฤษ นางทิพวรรณ อภิวันท์วรรัตน์ ผู้อำนวยการสายงาน (ภาษาและสิ่งพิมพ์) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น (ส.ส.ท.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงตลาดภาษาญี่ปุ่นกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการว่า ภาษาญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะภายหลังที่ประเทศไทยทำ FTA กับญี่ปุ่น มีความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมากขึ้น เห็นได้จากผู้ที่เข้ามาเรียนภาษาญี่ปุ่นกับสมาคมฯ กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น และหลายบริษัทส่งพนักงานมาเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นกลุ่มเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 สำหรับภาษาจีน นายประทีป โลจนาทร ผู้บริหารโรงเรียนภาษาและภูมิปัญญาตะวันออก (OKLS) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ว่า ภาษาจีนได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปัจจัยด้านการค้าและการลงทุนในจีน ส่งผลให้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนภาษาจีนเพิ่ม

ภาษาต่างประเทศที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบันคือ ภาษาเกาหลี และเวียดนาม นายมนพิสุทธิ์ มังคลัญเฐียร ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด ศูนย์การศึกษาและวัฒนธรรมเกาหลี (KLECC) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเช่นเดียวกันว่า มีสถานบันสอนภาษาหลายแห่งเพิ่มภาษาเกาหลีรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่ผลักดันการเรียนภาษาเกาหลีคือ ความชอบในศิลปินดาราเกาหลี มีถึงร้อยละ 60 และอีกร้อยละ 40 เรียนเพื่อใช้ในการทำงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้ที่ต้องการเข้าทำงานในบริษัทที่ประเทศเกาหลี ซึ่งต้องผ่านการทดสอบภาษาก่อนจึงจะเข้าไปทำงานได้ อีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ที่ต้องการทำงานในบริษัทคนเกาหลีในไทย ต้องมีทักษะภาษาเกาหลีในระดับกลางก่อน ภาษาที่มีแนวโน้มได้รับความสนใจในอนาคตคือ ภาษาเวียดนาม เนื่องจากเวียดนาม ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ กลุ่มนักลงทุนหรือพนักงานที่ต้องติดต่อกับเวียดนาม เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของภาษานี้ นางทิพวรรณ อภิวันท์วรรัตน์ ได้ยืนยันในเรื่องนี้

แม้ว่าประเทศไทยมีหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศหลายภาษา และมีสถาบันสอนภาษาอยู่จำนวนมากก็ตาม แต่คนไทยยังไม่สามารถพูดอ่านเขียนภาษาต่างประเทศได้ดีมากนัก เนื่องจากการเรียนภาษาต่างประเทศที่มีคุณภาพมักกระจุกตัวในเมือง มีครูสอนภาษาต่างประเทศไม่เพียงพอและขาดคุณภาพ ประกอบกับผู้เรียนไม่ได้มีการฝึกปฏิบัติหรือต้องใช้ภาษาต่างประเทศในชีวิตประจำวันเท่าที่ควร ดังนั้นผู้เรียนไทยจำนวนมากจึงไม่สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาต่างประเทศได้อย่างมีคุณภาพ และประการสำคัญมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้น ที่มีความสามารถจ่ายเพื่อเรียนในสถาบันสอนภาษาต่างประเทศที่มีคุณภาพ ปัญหานี้จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการติดต่อค้าขายและลงทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันให้คนไทยพูดภาษาต่างประเทศได้มากขึ้น จะต้องดำเนินการทั้งในด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน กล่าวคือด้านอุปสงค์ ต้องแก้เพิ่มความต้องการคนที่มีทักษะภาษาต่างประเทศ เช่น มีการขยายตัวการลงทุนที่ต้องใช้กำลังคนที่มีทักษะภาษาต่างประเทศจำนวนมาก การมีความแตกต่างด้านผลตอบแทนที่ได้รับระหว่างผู้ที่สามารถใช้ทักษะภาษาต่างประเทศได้ดีและใช้ได้ไม่ดี เป็นต้น ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด ส่วนด้านอุปทาน ต้องพัฒนาวิธีการสอนทักษะภาษาต่างประเทศให้คนไทย ทั้งด้านldquo;คุณภาพrdquo; และldquo;โอกาสrdquo; โดยมิใช่เพียงเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในสถานศึกษาเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม จับมือทลายกำแพงการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศให้กับคนไทย เพื่อพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศของคนไทยให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาอัพเกรด
เมื่อ: 
2008-01-03