ไม่เลือกปฏิบัติ ขจัดความขัดแย้ง

* ที่มาของภาพ - http://www.marca.com/07/05/16/finalUefa/11.jpg

ท่ามกลางสถานการณ์การย้ายพรรคเพื่อหาหลักแหล่งที่มั่นคงของบรรดานักการเมืองในขณะนี้ อาจเป็นภาพที่เห็นชัดเจนเฉพาะช่วงก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่ไม่สามารถผสานผลประโยชน์ภายในพรรค เนื่องจากหัวหน้าพรรคขาดความสามารถในการพิจารณาส่งผู้สมัครลงในแต่ละเขต ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขากันเอง อาจรุนแรงไปถึงการใส่ร้ายป้ายสีกันในพรรคด้วย เมื่อผู้สมัครหลายคนไม่สามารถทนอยู่ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้ง จึงแสดงออกทางการเมือง เช่น การลาออกจากพรรค การย้ายพรรค เป็นต้น

โดยทั่วไปลักษณะการขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง ต้องมีพื้นฐานความสัมพันธ์กับบุคคลบางกลุ่มในพรรคมาก่อน เพื่อเป็นฐานเสียงสนับสนุนบุคคลที่กลุ่มตนเห็นชอบร่วมกันให้เป็นผู้นำสูงสุดของพรรค ทำให้มีคนบางกลุ่มที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับหัวหน้าพรรคมากกว่าคนบางกลุ่มที่ไม่มีพื้นฐานความสัมพันธ์กันมาในอดีต เป็นเหตุให้ช่วงการคัดเลือกผู้สมัครลงเขตเลือกตั้งนั้น หัวหน้าพรรคมักพิจารณาเลือกคนที่ตนใกล้ชิดสนิทสนมก่อน รวมถึงเรื่องชาติตระกูล และฐานะทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนด้านการเงินแก่พรรค แต่กลับมองข้ามความรู้ความสามารถของสมาชิกพรรคที่เป็นตัวแปรสำคัญของการเป็นตัวแทนประชาชนเพื่อทำงานบริหารประเทศทำให้ภายในพรรคการเมืองเกิดกลุ่มก้อนหลากหลายแต่ขาดเอกภาพ

ดังนั้นหัวหน้าพรรคที่ดีจึงต้องมีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ (Equity) ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งในธรรมาภิบาล (Good Governance)

การบ่มเพาะก่อกำเนิดหลักความเสมอภาคได้นั้น ต้องเริ่มจากจิตใจที่เห็นคุณค่าของคนทุกคน เพราะแต่ละคนมีความสามารถ ความถนัด สติปัญญาที่โดดเด่นไปคนละด้าน หัวหน้าพรรคต้องรู้จักดึงคุณลักษณะที่ดีของสมาชิกในพรรคของตนมาใช้อย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดการยอมรับจากขั้วต่าง ๆ เพราะความสามารถที่มี รวมถึงการให้สมาชิกพรรคแต่ละคนแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในพรรคการเมืองอย่างเต็มภาคภูมิ

การปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมเป็นลักษณะของความยุติธรรม แสดงออกโดยการไม่เลือกปฏิบัติ แต่ให้เกียรติและเห็นคุณค่าและให้ความเป็นธรรมแก่สมาชิกพรรคอย่างเท่าเทียม ไม่มีข้ออ้างให้เลือกปฏิบัติต่อแต่ละบุคคลโดยไม่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในระดับใด ไม่เห็นแก่ ชาติตระกูล อำนาจเงินทุนที่ใช้สนับสนุน สายสัมพันธ์ใกล้ชิด มากกว่าการพิจารณาถึงความสามารถในการทำงานเป็นหลัก ไม่รับฟังข้อมูลข้างเดียวแล้วปักใจเชื่อ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดโดยปราศจากเหตุผลหรือการตรวจสอบความถูกต้อง และต้องให้โอกาสอีกฝ่ายที่ถูกพาดพิงได้แสดงเหตุผลและความคิดเห็นด้วย

สิ่งสำคัญ คือ หัวหน้าพรรคต้องรู้จักแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค ในกรณีที่เกิดการแบ่งเป็นก๊ก เป็นก๊วน ภายในพรรค เพื่อสลายความขัดแย้ง โดยไม่ถือข้างหรือเลือกข้าง แต่ยินดีเป็นกาวใจประสานความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายด้วยใจเป็นธรรม พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นความเป็นผู้นำของหัวหน้าพรรค โดยสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นภายในพรรคก่อน แล้วจึงกล้าประกาศนโยบายของพรรคเพื่อสร้างความสมานฉันท์ระดับประเทศได้

ดังคำกล่าวของนักปรัชญาการเมืองคนสำคัญ ฮันนาห์อะเรนดท์(Hannah Arendt) ldquo;พวกเราไม่ได้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด แต่สิ่งนี้เป็นผลจากการที่มนุษย์สร้างและจัดระบบขึ้นมาrdquo;

หากหัวหน้าพรรคเป็นผู้ที่มีหลักความเสมอภาคในการบริหารพรรคแล้ว ประชาชนย่อมมั่นใจได้ว่าเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้ง เขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเห็นคุณค่าไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดในประเทศไทยก็ตาม
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันศุกร์ที่18 มกราคม 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-01-18