วิกฤตคุณภาพการศึกษาไทย

องค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation amp; Development) หรือ OECD ได้จัดทำโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ปี 2549 โดยสำรวจความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแนวโน้มการอ่านของนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 4 แสนคน ในประเทศที่เป็นสมาชิก OECD ทั้งหมด 57 ประเทศ จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD คืออยู่ประมาณอันดับที่ 41-42 จาก 57 ประเทศ มีนักเรียนไทยถึงร้อยละ 47 ที่รู้วิทยาศาสตร์ต่ำกว่าระดับพื้นฐาน และมีร้อยละ 1 เท่านั้นที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในระดับสูง

ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำกรุงเทพฯ ดร. เชลดอน เชฟเฟอร์ (Dr. Sheldon Shaeffer) กล่าวว่า ประเทศไทยควรปรับปรุงคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา โดยระดับปฐมวัยควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอน และระดับอุดมศึกษาควรปรับปรุงการวัดมาตรฐานการเรียนการสอน การทำวิจัย นักศึกษาที่จบแล้วไม่มีงานทำ และจำนวนหนังสือในห้องสมุดที่ยังไม่เพียงพอ

เห็นได้ว่าการศึกษาไทยในสายตาของต่างประเทศไม่สู้ดีนัก ทั้งในเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในวิชาสำคัญอย่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษายังขาดคุณภาพ และการขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งควรมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะ ldquo;การศึกษาrdquo; ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ หากคนไทยได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ จะส่งผลเสียต่อการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างแน่นอน

ผลสำรวจของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าการศึกษาไทยกำลังมีปัญหาควรเร่งแก้ไข อาทิ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ปีการศึกษา 2548 อยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ โดยผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าร้อยละ 50 ทุกวิชา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าร้อยละ 35

นักวิชาการหลายสำนักได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ส่งผลให้การจัดการศึกษาไทยเกิดวิกฤตด้านคุณภาพ ซึ่งมีด้วยกันหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจำกัด ระบบการจัดการศึกษาใหญ่ขยับยาก การขาดการมีส่วนร่วมจากภาคีอื่น ขาดการมุ่งประสิทธิภาพในการบริหารจัดการศึกษา หลักสูตรไม่ได้มุ่งเน้นการคิดเป็นทำเป็นแต่เน้นท่องจำ หรือปัญหาครูไม่เพียงพอหรือขาดคุณภาพ ฯลฯ แต่ผมคิดว่าการจะแก้ไขและพัฒนาการจัดการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ ได้ตามเป้าหมาย แก่นหลักสำคัญต้องเริ่มจากปฏิรูปฝ่ายหรือหน่วยที่เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางและนโยบายการศึกษาของประเทศ จึงจะนำไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้ อาทิ

สรรหารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เนื่องจากงานด้านการศึกษาต้องใช้เวลานานในการวางรากฐานและพัฒนาให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาพบว่าการจัดการศึกษาจะมีการปรับเปลี่ยนวาระหรือนโยบายไปตามรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งไทยมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการบ่อยมาก ทำให้การดำเนินนโยบายการศึกษาขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสรรหารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คือมีวิสัยทัศน์ไกลไปในอนาคต โดยกำหนดภาพพึงประสงค์ว่าการศึกษาไทยควรไปในทิศใด วางแนวทางผลักดันให้ไปสู่วิสัยทัศน์นั้น ผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์นั้น อีกทั้งยังจำเป็นต้องสรรหารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่สามารถบริหารการศึกษาเชิงกลยุทธ์ สามารถบริหารและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สามารถสร้างภาคีเครือข่าย มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และเป็นที่ยอมรับของกลุ่มนักการศึกษา

กำหนดกลยุทธ์บริหารการศึกษาไทยอย่างเป็นระบบ
แม้ประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ บ่อยครั้ง และในสภาพที่มีความจำกัดด้านทรัพยากรการศึกษา แต่การศึกษาไทยยังคงต้องขับเคลื่อนต่อไป จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารงานด้านการศึกษาไว้เป็นตัวแบบ คือ กำหนดแนวทางพัฒนาการศึกษาที่ดีที่สุด ภายใต้สภาวะต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบ และภายใต้ความจำกัดทางทรัพยากร โดยกำหนดเป็นขั้นตอนแต่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์หรือเมื่อมีอุปสรรค มีการจัดเตรียมกลไกบริหารจัดการที่นำสู่ภาคปฏิบัติ แม้เปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก็ยังมีระบบและกลไกขับเคลื่อนให้ไปถึงเป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้

กำหนดคณะกรรมการสภาการศึกษาที่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก และทำงานร่วมกับคณะกรรมการอื่นอย่างบูรณาการ คณะกรรมการสภาการศึกษามีบทบาทนำเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติ ตลอดจนพิจารณาเสนอนโยบาย แผน มาตรฐานการศึกษา และการประเมินผลการจัดการศึกษา และให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ หรือคณะรัฐมนตรี จึงจำเป็นยิ่งที่จะต้องพัฒนารูปแบบการทำงานและกลไกต่าง ๆ ของคณะกรรมการสภาการศึกษา ให้สามารถทำหน้าที่ตัดสินใจเสนอนโยบายที่เกิดประโยชน์สูงสุด กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก และแผนการศึกษาชาติในการพัฒนาการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทั้งต้องพัฒนารูปแบบและกลไกการทำงานร่วมกับคณะกรรมการการศึกษาชุดอื่น เช่น คณะกรรมการการอุดมศึกษา คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการอาชีวศึกษา และอื่น ๆ เพื่อทำงานร่วมกันได้อย่างบูรณาการและสอดรับกัน อันจะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้

ผ่านและการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาสำคัญ ปัจจุบันมีกฎหมายและกฎกระทรวงด้านการศึกษาจำนวนกว่าครึ่งค้างอยู่ซึ่งเป็นอุปสรรคยิ่งต่อการจัดการศึกษาตามกรอบในพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 ดังนั้นจึงต้องเร่งผลักดันให้ปรับปรุงกฎหมายที่มีปัญหา อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการเรียนฟรี 12 ปี หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการระดมทรัพยากรของสถานศึกษา ฯลฯ การผลักดันกฎหมายใหม่รองรับกระแสโลกาภิวัตน์ อาทิ กฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการเปิดเสรีการศึกษา ฯลฯ การจัดทำวิจัยผลกระทบเชิงบวกและลบของการใช้กฎหมายต่าง ๆ และการเปิดช่องทางให้ภาคประชาสังคมมีส่วนแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมาย รวมถึงให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของกฎหมายสู่กลุ่มผู้ปฏิบัติอย่างทั่วถึง

มุ่งเน้นการทำงานที่ให้ภาคีอื่นเข้ามีส่วนร่วม การจัดการศึกษาเป็นภารกิจสำคัญที่มิใช่เป็นภาระของกระทรวงศึกษาธิการ เท่านั้น แต่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเข้าร่วม อาทิ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการศึกษา หรือชุมชน ฯลฯ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดแนวทางหรือกลไกที่เปิดให้ภาคีอื่นเข้ามีส่วนร่วม โดยดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เน้นการสร้างภาคีความร่วมมือระดับเข้มข้นเกิดผลจริง มิใช่เป็นเพียงเครือข่ายในนาม

การจัดการศึกษาจะมีคุณภาพ จำเป็นต้องเริ่มจากหน่วยเหนือหรือผู้ที่มีส่วนกำหนดทิศทางและนโยบายให้ทิศทางที่ชัดเจน มองไกลไปในอนาคต รวมทั้งสามารถกำหนดนโยบาย กลไกการดำเนินการ และกลยุทธ์ในเชิงรุกได้ จึงจะผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินการในลำดับต่อไปถึงระดับปฏิบัติการเกิดผลได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
เมื่อ: 
2008-01-04