จุดประกายความร่วมมือ ไทย-ฮาร์วาร์ด

การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคีทั่วโลก นับว่าเป็นแบบอย่างที่น่าสนใจและน่าศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งผมเคยนำเสนอบางส่วนไปว่า ฮาร์วาร์ดมียุทธศาสตร์ในการขยายผลงานวิจัยของตนเอง การระดมทุน และการสร้างช่องทางต่อยอดองค์ความรู้ผ่านการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน นักธุรกิจ สถาบันวิจัย สถานศึกษา ฯลฯ อันส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นด้านวิชาการ และมีผลงานรับรองคุณภาพจำนวนไม่น้อย

กรณีของประเทศไทย พบว่าปัจจุบันมีหลายภาคส่วนของไทยมีการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กรนั้น ลักษณะความร่วมมือนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น

ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และเป็นจุดขายในตลาดการศึกษาที่มีการแข่งขันสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจระหว่างสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์
(NIDA) กับฮาร์วาร์ด ที่นำแบบอย่างหลักสูตรเอ็มบีเอจากฮาร์วาร์ดมาใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพและสร้างชื่อเสียงแก่มหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น

ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากร และองค์ความรู้ เพื่อถ่ายโอนองค์ความรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ระหว่างกัน ความร่วมมือในลักษณะนี้เกิดขึ้นทั้งสถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ

สถาบันการศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการสัมมนา การเชิญคณาจารย์จากฮาร์วาร์ดมาร่วมบรรยาย เห็นได้จาก การเดินทางไปสัมมนาด้านภาวะผู้นำและการบริหารการศึกษาร่วมกับนักศึกษาที่ฮาร์วาร์ดของคณาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอกทางการบริหารการศึกษาของมหาวิทยาลัยสยาม การเชิญคณาจารย์ที่มีผลงานวิจัยทางพระพุทธศาสตร์จากฮาร์วาร์ดมาร่วมบรรยายในหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสนาศึกษา ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ภาคธุรกิจ
การนำตัวอย่างของธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จเข้าไปบรรจุเป็นกรณีศึกษาในหลักสูตรการเรียนการสอนที่ฮาร์วาร์ด และเชิญผู้บริหารธุรกิจไทยร่วมให้ความรู้กับนักศึกษาฮาร์วาร์ด เห็นได้จาก การเชิญผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์บรรยายพิเศษ และนำตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเบียร์ช้าง ไปเป็นกรณีศึกษา ที่ใช้ในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลพญาไทกับสถาบันการแพทย์นานาชาติฮาร์วาร์ด (Harvard Medical International: HMI) เพื่อนำเอาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการแพทย์การรักษาจากฮาร์วาร์ดที่ทันสมัยมาพัฒนาในประเทศไทย

ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์เฉพาะทาง เพื่อยกระดับและขีดความสามารถ ศักยภาพของบุคลากรและองค์กร รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์ใหม่แก่บุคลากร เห็นได้จาก ความร่วมมือระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์และฮาร์วาร์ดในการเปิดศูนย์ฝึกอบรมผู้นำ (Leadership Center) เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในระดับผู้บริหารและพนักงานขององค์กร

รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์เอเชียเพื่อไทยศึกษา (The Asia Center Committee on Thai Programs) ประกอบด้วย ผม ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ดร.สารสิน วีระผล นายกสมาคมนักเรียนเก่า ฮาร์วาร์ดแห่งประเทศไทย ศ.ไมเคิล เฮอร์ซเฟลด์ (Prof.Michael Herzfeld) อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา และมี ศ.เจย์ โรเซนการ์ด (Prof.Jay Rosengard) เป็นประธานกรรมการ เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์ไทยคดีศึกษาที่ฮาร์วาร์ด
ผมเห็นว่าช่องทางเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่จุดประกายให้ประเทศไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยไทย ใช้ประโยชน์จากความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน การเสริมศักยภาพบุคลากร เพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยแสวงหาช่องทางใหม่ ๆ ในการสร้างความร่วมมือ เช่น

การจัดตั้งชุมชนวิจัยในระดับนานาชาติ
เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาประเทศ เช่น ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายนักวิจัยระหว่างประเทศ ส่งเสริมการเผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาไทยไปสู่นานาชาติ การนำผลการวิจัย องค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ในปรับปรุงธุรกิจ

การร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตร
การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับสากล และสามารถดึงดูดผู้เรียนจากทั่วโลกได้ เช่น การแพทย์ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ประกอบการเพื่อสังคม เป็นต้น

การริเริ่มหลักสูตรใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคม เช่น การสร้างภาวะผู้นำ การสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคม การบริหารการศึกษาในยุคสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน

พลังการขับเคลื่อนระบบการศึกษาและสังคม ให้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐานและสามารถอยู่รอดได้ในสังคมแห่งการแข่งขันนั้น จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างมียุทธศาสตร์ ที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การวิจัยและพัฒนาของสถาบันการศึกษา รวมถึงมีส่วนเพิ่มความสามารถให้แก่ประเทศได้
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-12-28