อธิการบดีบ็อค แบบอย่างผู้บริหารเพื่ออนาคต

อธิการบดีเดริค บ็อค (Derek Bok) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นตัวอย่างผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ได้สะท้อนความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการนำพามหาวิทยาลัยให้ก้าวไปสู่โลกยุคใหม่ อย่างรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสแก่มหาวิทยาลัยในระยะยาว

สิ่งที่ยืนยันถึงความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ของอธิการบดีบ็อคมีหลายประการ การริเริ่มโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมาจากแนวคิดที่มองการณ์ไกลว่า การสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากสภาพสังคมอเมริกันในช่วงทศวรรษที่ 80 นั้นเปิดกว้างมากขึ้น และในอนาคตการทำงานในทุกองค์กรย่อมมีคนที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ พื้นฐานทางสังคม ครอบครัว อีกทั้งหากมหาวิทยาลัยต้องการก้าวไปสู่ระดับโลก ต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากร และบัณฑิตให้สามารถทำงานร่วมกับคนที่หลากหลายได้

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยควรเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริม สร้างบุคลากรที่สามารถทำงานร่วมกันคนทุกกลุ่มได้ มีความเข้าใจในความหลากหลายทางความคิด วัฒนธรรม เชื้อชาติ รวมถึงขยายบทบาทไปสู่ความรู้ความเข้าใจในระดับสากล เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็น

การเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงการศึกษา เพื่อสร้างชุมชนวิชาการที่มีความหลากหลาย สิ่งที่สะท้อนแนวคิดนี้ ปรากฏในจดหมายจากอธิการบดีที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1981 ที่อธิการบดีบ็อคกล่าวว่า
ldquo;นักศึกษาที่เป็นคนกลุ่มน้อยทุกคน (ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง คนผิวสี คนต่างเชื้อชาติ) จะได้รับการต้อนรับอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับนักศึกษากลุ่มอื่น ๆ เพราะคนเหล่านั้นมีความสามารถที่ผ่านเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย และสามารถเพิ่มพูนความหลากหลายให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยrdquo;

การเสนอแนวคิดปรับปรุงหลักสูตรพื้นฐานในระดับปริญญาตรี (Core curriculum) ที่ใช้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ให้ปรับเปลี่ยนไปสู่การเรียนการสอนที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตทางวิชาการไว้ที่ความรู้ชุดใดชุดหนึ่ง หากแต่เป็นการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจถึงวิธีคิดของแต่ละสาขาวิชา เพื่อนักศึกษาจะสามารถบูรณาการความรู้ มาใช้แก้ปัญหาและค้นหาแนวทางการพัฒนาได้สอดคล้องกับบริบทโลกในยุคปัจจุบัน และอนาคตที่ซับซ้อนมากขึ้น

การบุกเบิกสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ
ดังเช่นความพยามยามในการผลักดันให้วิทยาลัยจอห์นเอฟเคเนดี้
(John F. Kennedy School of Government) ขยายหลักสูตรไปสู่ประเด็นใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง โดยไม่ยึดติดกับองค์ความรู้เพียงชุดเดียว อาทิ โรคเอดส์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ความยากจน จริยธรรมในวิชาชีพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงการตั้งศูนย์แดนฟอร์ท (the Danforth Center for Teaching and Learning) เพื่อการสอนและการเรียนรู้ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์บ็อค(The Bok Center)

นอกจากนี้เมื่ออธิการบดีบ็อคกลับเข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีเป็นครั้งที่ 2 ในฐานะรักษาการอธิการบดี แทนอธิการบดีซัมเมอร์ที่ลาออกไปในปี ค.ศ. 2006 นั้น เขายังแสดงความเป็นผู้นำที่มุ่งมั่นในการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยรักษานโยบายการสร้างความร่วมมือระหว่างคณะ และระหว่างมหาวิทยาลัยไว้ เพราะเห็นว่า นโยบายดังกล่าวมีความหมายต่อการพัฒนางานวิจัยและการจัดการศึกษา ซึ่งสะท้อนความเป็นคนที่ยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก

แบบอย่างความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ดังเช่นอธิการบดีบ็อคนี้ ทำให้เห็นว่า ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์นั้น ต้องมีคุณลักษณะที่มองอย่างครบถ้วนคือ มีความเข้าใจเหตุการณ์ในปัจจุบัน มองเห็นสภาพในอนาคต และวางแผนที่จะทำให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสระยะยาวแก่องค์กร
สะท้อนคิดสู่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยของไทย ที่ไม่เพียงมีคุณสมบัติของการเป็นนักพัฒนา ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีความคิดสร้างสรรค์ อย่างที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งเป็นอยู่ เนื่องจากต้องรับมือกับสภาพการแข่งขันในธุรกิจการศึกษา ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

หากแต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือ ผู้บริหารต้องวาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยเห็นภาพในอนาคตว่า ต่อไปมหาวิทยาลัยจะโดดเด่นในเรื่องใดบ้าง บุคลากรจะได้รับการพัฒนาด้านใด ผู้เรียนจะมีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในระดับใด เป็นต้น รวมถึงสามารถชี้แนวทางในภาคปฏิบัติว่า มหาวิทยาลัยจะสามารถไปให้เป้าหมายนั้นได้อย่างไร

การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนได้นั้น โดยเริ่มจากเป็นคนช่างสังเกต รักการเรียนรู้ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสาร และวางแผนเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายให้สอดรับสภาพการณ์ในอนาคต

นอกจากนี้ผู้บริหารยังต้องมีความสามารถในการสื่อสารวิสัยทัศน์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากร เพื่อให้ทำงานอย่างสอดคล้องต้องกัน

ผู้บริหารเพื่ออนาคตจำเป็นต้องปรับตนเอง ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำมหาวิทยาลัยไปสู่ความสำเร็จ และสามารถสร้างบุคลากรที่นำการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศไปได้ในทางที่ดีขึ้น

admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-12-21