สาเหตุบัณฑิตล้นตลาด: วิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์

ปัญหาสำคัญของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยที่หลายฝ่ายเป็นห่วงคือ ความไม่สอดคล้องระหว่างการผลิตบัณฑิตกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งหากไม่รีบแก้ไขหรือป้องกัน จะส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ใช้การปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน โดยผลักดันให้มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบ และสนับสนุนการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งการใช้กลไกตลาดในการจัดการศึกษา อาจไม่สามารถแก้ปัญหาการผลิตบัณฑิตที่ไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงาน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้

ปัญหาด้านคุณสมบัติของตลาด

ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลตลาดแรงงาน
การขาดระบบข้อมูลด้านตลาดแรงงานที่ดี ทั้ง ๆ ที่มีตำแหน่งงานรองรับ อาทิ ผู้หางานไม่สามารถค้นพบตำแหน่งงานที่ต้องการ หรือนายจ้างไม่สามารถค้นพบแรงงานที่มีคุณสมบัติตามต้องการ ส่งผลให้ค่าจ้างสูงเกินจริงและทำให้ผู้จบการศึกษาบางส่วนว่างงาน

การทดแทนกันของแรงงานระดับต่าง ๆ
ตลาดแรงงานของไทยให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษา ผู้เรียนจึงเกิดแรงจูงใจในการเรียนเพื่อใบปริญญา เพื่อเบิกทางเข้าสู่ทำงาน ส่งผลให้แรงงานที่มีทักษะสูงหรือทักษะเฉพาะ (specific skills) เข้าทดแทนแรงงานที่มีทักษะปานกลางหรือทักษะทั่วไป (general skills) ทำให้มีผู้ศึกษาต่ออุดมศึกษาเกินความต้องการของตลาดแรงงาน เพราะคิดว่าเรียนแล้วมีโอกาสตกงานน้อย

การศึกษาปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน
ตลาดแรงงานบางสาขา มีการปรับตัวของอุปสงค์อุปทานไม่เท่ากัน ทำให้มีแรงงานขาดแคลนหรือเกินความต้องการเป็นวัฏจักร สมมติว่า ในปัจจุบัน วิศวกรโยธาขาดแคลน ค้าจ้างแรงงานจึงสูง จึงมีผู้เรียนสาขานี้เพิ่มขึ้น ในอีก 4 ปีต่อมา มีผู้จบวิศวกรโยธาเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก จนเกิดอุปทานแรงงานส่วนเกิน (excess supply of labour) ทำให้ค่าจ้างแรงงานวิศวกรโยธาลดลง ส่งผลให้มีผู้เรียนสาขานี้ลดลง และอีก 4 ปีข้างหน้า เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน (excess demand of labour) วิศวกรโยธาลดลง ค่าจ้างเพิ่มอีกครั้ง

ปัญหาด้านผู้เรียน

ตามทฤษฎีทุนมนุษย์ (Human Capital) การศึกษาเป็นการลงทุนที่หวังผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้น การตัดสินใจว่าควรเรียนต่อระดับอุดมศึกษาหรือไม่ ใช้เวลาเรียนกี่ปี หรือเรียนในสาขาใด ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ cost - benefit จากการลงทุนทางการศึกษา (สมมติให้ปัจจัยอื่นคงที่) แต่ปัญหาแรงงานล้นตลาดเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ผู้เรียนไม่ทราบข้อมูลตลาดแรงงาน ขาดข้อมูลและความเข้าใจเกี่ยวกับสาขาวิชาที่ศึกษา ไม่มีข้อมูลการจ้างงานและผลตอบแทนในแต่ละสาขา แต่เลือกเรียนตามเพื่อนหรือค่านิยม

ปัญหาด้านผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา

การแสวงหากำไรสูงสุดของสถาบันการศึกษาเอกชน ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเปรียบเหมือนผู้ผลิตสินค้า ย่อมแสวงหากำไรสูงสุด จึงแสวงหารายได้จากค่าเล่าเรียนของนักศึกษาเป็นหลัก โดยรับนักศึกษาจำนวนมากและเปิดหลักสูตรพิเศษเพื่อหารายได้ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาด ส่งผลทำให้เกิดปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างจำนวนบัณฑิตกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ปัญหาตัวแทนของรัฐ (Principal-agent problem) ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ ต้องการแสวงหาประโยชน์ เช่น รับผู้เรียนและเปิดหลักสูตรจำนวนมากเพื่อหารายได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่รัฐได้รับ ทำให้การวางแผนผลิตบัณฑิตไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ซึ่งเกิดจากรัฐขาดระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพจากรัฐ ขาดกลไกที่เข้มแข็งในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, ข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย, 2546) ผลที่สะท้อนว่ารัฐไม่สามารถควบคุมการผลิตบัณฑิตได้ตรงตามแผน เช่น หลายมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรปริญญาเอกที่ขาดคุณภาพ โดยรับนักศึกษารุ่นละ 40-50 คน หรือไม่จำกัดจำนวน จ้างศาสตราจารย์เกษียณ หรือใกล้เกษียณมาเป็นประธานหลักสูตร มีอาจารย์ที่ปรึกษาเพียง 4-5 คน อาจารย์ 1 คน ต้องให้คำปรึกษานักศึกษาหลายสิบคน เป็นต้น

ปัญหาด้านรัฐบาล

การดำเนินนโยบายของนักการเมืองในรัฐบาล อาจส่งผลให้ผลิตบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน อาทิ นโยบายที่หวังคะแนนนิยม โดยการกำหนดนโยบายที่เห็นผลระยะสั้น เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งสั้น เช่น กระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น หรือนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เช่น คอร์รัปชันจากโครงการจัดซื้อต่าง ๆ ผูกขาดการจัดการศึกษา หรือตั้งเงื่อนไขการจัดหลักสูตร เนื่องจากต้องการควบคุมงบประมาณการจัดการศึกษา เป็นต้น การดำเนินนโยบายในลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาบัณฑิตล้นตลาดแรงงานในอนาคต

ทางออกปัญหาผลิตบัณฑิตไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน อันเนื่องมาจากการใช้กลไกตลาดในการจัดการศึกษา สามารถทำได้โดยการวิจัยความต้องการแรงงานในแต่ละสาขาต่อเนื่องทุกปี พร้อมทั้งควรกำหนดมาตรการที่สามารถบังคับให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชน ผลิตบัณฑิตที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานและไม่แสวงหารายได้ ควรกระจายข้อมูลความต้องการแรงงานให้แก่ผู้เรียน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจศึกษาต่อ และประการสำคัญคือ ช่วยกันเลือกผู้ที่เข้ามาเป็นรัฐบาล โดยพิจารณานโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองต่าง ๆ อย่างรอบคอบว่า จะสามารถเข้ามาบริหารการศึกษาที่มีคุณภาพและผลิตกำลังคนได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใด
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2007-12-13