GLOBAL WARMING?บทวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์

ภาวะโลกร้อนกลายเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน จนมีความตื่นตัวของรัฐบาลและประชาชนในหลายประเทศที่พยายามป้องกันและแก้ไขปัญหานี้

แท้ที่จริงแล้ว คำเตือนเรื่องวิกฤตโลกร้อนมีมานานแล้ว แต่ประเทศต่าง ๆ กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือในระดับโลกเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกกลับประสบความล้มเหลว เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่ร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมจึงเกิดปัญหาโลกร้อน และทำไมความร่วมมือในการแก้ปัญหาจึงล้มเหลว โดยใช้แนวทางการวิเคราะห์ด้วยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์
บทวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์

หากพิจารณาด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์ การที่ทำให้ภาวะโลกร้อนเข้าสู่วิกฤต และความล้มเหลวในความร่วมมือแก้ปัญหาโลกร้อน เกิดจากเหตุผลดังต่อไปนี้
ผลประโยชน์ของการพัฒนามากกว่าผลกระทบของโลกร้อน

การพัฒนาเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการพัฒนาทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงมาก ถึงแม้ว่าประชาชนและรัฐบาลทั่วโลกจะทราบว่า การพัฒนาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การทำลายป่าไม้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการก่อมลภาวะ แต่ในช่วงเริ่มแรกของการพัฒนา คนยังเห็นว่า ผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม (marginal benifit) ที่ได้รับจากการพัฒนา มีค่ามากกว่าต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) จากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในช่วงเริ่มแรก ทรัพยากรยังมีอุดมสมบูรณ์ และสิ่งแวดล้อมยังอยู่ในสภาพที่ดี
เมื่อการพัฒนาดำเนินต่อมา ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มของการพัฒนาจะเริ่มลดน้อยถอยลงตาม Law od Marginal Diminishing Return ขณะที่ต้นทุนส่วนเพิ่มของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีเหลือน้อยลง ดังนั้นตราบใดที่ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มของการพัฒนายังสูงกว่าต้นทุนส่วนเพิ่มของการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คนจะยังคงดำเนินการพัฒนาที่ต้องแลกด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศเกษตรกรรมส่วนหนึ่งจึงรู้สึกว่าเป็นความเสียเปรียบ หากต้องถูกจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนเช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมและประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วย่อมให้คุณค่ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่า ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาย่อมให้คุณค่ากับการพัฒนามากกว่า แต่ให้คุณค่ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมน้อยกว่า
ความไม่ตระหนักถึงต้นทุนของภาวะโลกร้อน

การที่ประชากรโลกดำเนินกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงแรก เกิดจากความไม่รู้ว่าก๊าซดังกล่าวสร้างผลกระทบอย่างไร แม้เมื่อมีการค้นพบปรากฏการณ์เรือนกระจกและผลกระทบของปรากฏการณ์นี้แล้ว การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังดำเนินต่อไป เพราะประชากรโลกส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงผลร้ายของปรากฏการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ภาวะโลกร้อนจึงไม่ถูกรวมอยู่ในต้นทุนของการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์

จนกระทั่งผลกระทบของภาวะโลกร้อนเริ่มส่งผลต่อมนุษยชาติอย่างชัดเจนมากขึ้น จากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นโดยในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2443-2543) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส และคาดว่าในช่วง 100 ปีข้างหน้าความร้อนบนผิวโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 3-4 องศาเซลเซียส รวมทั้งภาวะภูมิอากาศแปรปรวนและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดมากขึ้น จนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วโลก รัฐบาลและประชาชนทั่วโลกจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหานี้
ภาวะโลกร้อนเป็นผลกระทบภายนอก

ภาวะโลกร้อนมีลักษณะเดียวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผลิต กล่าวคือ มีลักษณะเป็นผลกระทบภายนอกเชิงลบ (negative extrnality) ที่เกิดจากการผลิต ในภาวะเช่นนี้ กลไกตลาดจึงล้มเหลว เพราะการที่ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงแบกรับต้นทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่ประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้ปล่อยก๊าซกลับต้องร่วมรับต้นทุนจากผลกระทบของโลกร้อนด้วย ผู้ผลิตจึงได้รับประโยชน์มากกว่าที่ควรจะเป็น และยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป เพราะเขาไม่ได้แบกรับต้นทุนของการปล่อยก๊าซดังกล่าวเท่าที่ควร
เมื่อพิจารณาถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงไม่ยินดีที่จะเข้าร่วมอนุสัญญาของสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC: United Nations Framework Convention on Climate Change) เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการผลิตและบริโภค แต่ประเทศอื่น ๆ กลับต้องรับต้นทุนจากผลกระทบของโลกร้อน ซึ่งเป็นผลมาจากก๊าซเรือนกระจกที่สหรัฐฯได้ปล่อยออกมาด้วย
การแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นสินค้าสาธารณะ
เมื่อมองในอีกแง่มุมหนึ่ง มาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อนมีลักษณะเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) กล่าวคือ การที่คนหนึ่งบริโภคสินค้านั้นไม่กระทบต่อการบริโภคของคนอื่น ๆ (non-rival) และการไม่สามารถกีดกันคนอื่น ๆ ไม่ให้เข้าถึงสินค้านี้ได้ (non-excludable) หรือหมายความว่า ทุกคนในโลกต่างได้รับประโยชน์จากการแก้ปัญหาโลกร้อนทั้งสิ้น ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะจ่ายเพื่อการแก้ปัญหานี้หรือไม่
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะก่อให้เกิดคนที่ยินดีที่จะรับประโยชน์จากการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่กลับไม่ยินดีจ่ายเพื่อการแก้ปัญหาโลกร้อน หรือที่เรียกว่า ldquo;free riderrdquo; ในทำนองเดียวกับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งมีประเทศที่ยินดีจะรับประโยชน์หากภาวะโลกร้อนได้รับการแก้ไข แต่กลับไม่ยินดีที่จะต้องเสียสละเงินสำหรับการร่วมกันแก้ปัญหานี้
ความร่วมมือแก้โลกร้อนไม่ใช่ภาวะดุลยภาพ
หากพิจารณาความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อนของนานาประเทศด้วยทฤษฎีเกม (game theory) การแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นเกมระหว่าง 2 ฝ่าย คือ ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีทางเลือกกลยุทธ์ 2 ทางเลือก คือ การร่วมมือในอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อแก้โลกร้อน และการไม่ร่วมมือในอนุสัญญาดังกล่าว เกมนี้จะมีลักษณะเป็น ldquo;prisoner dilemmardquo;

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะการที่ทั้งสองกลุ่มประเทศต่างให้ความร่วมมือในอนุสัญญาฯ เป็นภาวะที่ไม่ใช่ดุลยภาพ เนื่องจากหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดอนุสัญญาฯ ฝ่ายที่ละเมิดจะได้ประโยชน์มากขึ้น แต่ฝ่ายที่ยังคงให้ความร่วมมือในอนุสัญญาจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ดังนั้นในที่สุดทั้งสองฝ่ายต่างก็จะละเมิดอนุสัญญา ทั้ง ๆ ที่การร่วมมือกันอาจทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์มากกว่าการไม่ร่วมมือกัน
บทบาทของไทยในการแก้ปัญหาโลกร้อน

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับอนุสัญญาของสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยจัดอยู่ในกลุ่ม 148 ประเทศกำลังพัฒนา (non-annex I) ที่ไม่ถูกบังคับให้ลดก๊าซเรือนกระจกเหมือนกับอีก 41 ประเทศพัฒนาและหลายประเทศในยุโรปกลาง เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยยังอยู่ในปริมาณต่ำ ทั้งนี้รายงานทรัพยากรโลกปี 2005 (World Resources 2005) ของสถาบันทรัพยากรโลก (World Resource Institution) ระบุว่า ปี 2543 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 261 ล้านตัน โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นร้อยละ 0.78 ของโลก ขณะที่จีนและสหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นร้อยละ 14.7 และ 20.6 ตามลำดับ[1]

ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจตามพิธีสารเกียวโต (DNA: Designated National Authority) ซึ่งเป็นบทบาทภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto protocol) นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยังทำให้ประเทศไทยมีหน้าที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามอนุสัญญาต่าง ๆ โดยมีความรับผิดชอบร่วมกับนานาประเทศในระดับที่แตกต่างกัน (common but differentiate responsibilities)
ประเทศไทยต้องดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมของไทยในการสร้างขีดความสามารถในการปรับตัว (adaptation) รวมถึงจัดทำรายงานแห่งชาติ (NC: National Communication) เพื่อรายงานผลการดำเนินงานต่อประชาคมโลกภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้การดำเนินนโยบายจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และควรให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิด (carbon sources) และเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง เพื่อประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ องค์กร สถาบัน ธุรกิจภาคเอกชน และภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่กำหนดบทบาท ทิศทาง และมาตรการต่าง ๆ ร่วมกัน รัฐบาลไทยได้จัดทำแนวนโยบายแห่งรัฐผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม

คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบให้มีการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกขึ้นด้วย องค์การนี้มีบทบาทในการวิเคราะห์ กลั่นกรองโครงการ ส่งเสริมการพัฒนาตลาดซื้อขายก๊าซเรือนกระจก เป็นศูนย์ข้อมูลกลางเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับคำรับรอง สนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหา วิจัยและพัฒนา ร่วมมือกับนานาชาติ รวมถึงมีบทบาทในการกำหนดท่าทีการเจรจาอนุสัญญาและพิธีสารต่าง ๆ
ข้อเสนอแนะ
แม้ว่าการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอาจจะเป็นไปได้ยากในระดับนานาชาติ แต่ประเทศไทยควรสร้างหลักประกันและเตรียมแผนงานรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่เป็นเพียงการตั้งรับปัญหา แต่ควรมีมาตรการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาในเชิงรุก เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทันสถานการณ์และเหมาะสมกับสภาพปัญหา
รัฐบาลควรกำหนดเป้าหมายด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโลกร้อนอย่างชัดเจน อาทิ เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและในชนบท ฯลฯ ถึงแม้ว่าการที่ประเทศไทยดำเนินการแก้ปัญหาโลกร้อนเพียงลำพัง จะไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ แต่อย่างน้อยอาจช่วยลดปัญหามลภาวะและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในประเทศลงได้บ้าง และยังเป็นการเตรียมความพร้อมของภาคการผลิตในประเทศ สำหรับการบังคับใช้สนธิสัญญาระหว่างประเทศในอนาคต

กลไกการดำเนินการแก้ปัญหาโลกร้อน ควรใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อจูงใจผู้ที่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และลงโทษผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนอกเหนือจากการจัดตั้งตลาดซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ภาครัฐอาจพิจารณาจัดเก็บภาษีแก่ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด หรือไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากสินค้านำเข้าที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่ามาตรฐาน ตลอดจนให้การลดหย่อนภาษีแก่ผู้ที่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานและเป้าหมาย

ทั้งนี้ภาษีที่จัดเก็บได้ รัฐบาลอาจจะนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อใช้ในการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาโลกร้อน อาทิ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาพลังงานสะอาด การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การตรวจสอบและประเมินผล ตลอดจนการชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากปรากฏการณ์โลกร้อน และการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

นอกจากนี้ ภาครัฐควรคำนึงถึงการดำเนินมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยทางอ้อม เช่น การลดการพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคที่อยู่อาศัย โดยการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำและโครงสร้างพื้นฐานในการกระจายทรัพยากรน้ำ การเฝ้าระวังและป้องกันภัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อน การป้องกันการสูญเสียทรัพยากรอันเกิดจากภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ภาวะน้ำท่วมและภาวะแห้งแล้ง เป็นต้น

หากรัฐบาลขาดวิสัยทัศน์ในการแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน จะทำให้ประชาชนต้องประสบกับความยากลำบากในระยะยาว ซึ่งไม่เพียงแต่ผลกระทบต่อภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย


[1] เกษมสันต์จิณณวาโส ldquo;คนhellip;ต้นเหตุของโลกร้อนrdquo; ประชาชาติธุรกิจ (30 เมษายน ndash; 2 พฤษภาคม 2550), หน้า 49.
admin
เผยแพร่: 
Tax Business
เมื่อ: 
2007-07-01