Currency Band: ทางเลือกของนโยบายรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท





* ที่มาของภาพ - http://qwer.dek-d.com/contentimg/general/money%20man.jpg
การที่เศรษฐกิจอเมริกายังซบเซาและขาดดุลการชำระเงินอย่างหนัก ค่าเงินบาทจึงยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามีเสถียรภาพขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้ว แต่กลับแข็งค่าขึ้นอีกในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ผมเคยเขียนบทความไว้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรยึดกรอบการบริหารค่าเงินแบบ Rules ซึ่งเป็นการสร้างพันธะ (commitment) แก่ผู้ดำเนินนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง แทนการบริหารแบบ Discretion ซึ่งให้อิสระผู้ดำเนินนโยบายกำหนดนโยบายตามดุลยพินิจของตน
แม้อันที่จริง ธปท. ได้ยึดแนวคิดนี้มาใช้ในการควบคุมเสถียรภาพเศรษฐกิจภายใต้กรอบนโยบายที่เรียกว่า Inflation Targeting จนทำให้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้อย่างประสบความสำเร็จมาประมาณเกือบ 8 ปีมาแล้ว แต่ยังมิได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน
มาบัดนี้ ผมยังคงยืนยันแนวคิดเดิมว่า ธปท. ควรใช้กรอบการบริหารแบบ Rules ในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน โดยผมขอเสนอว่า ธปท. ควรสร้างพันธะในการกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน (Currency band) มิให้เปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงเกินไปว่ากรอบนี้
ที่ผ่านมา ธปท.พยายามรักษาเสถียรภาพของค่าเงินโดยการแทรกแซงอุปสงค์-อุปทานในตลาดเงิน และการควบคุมเงินทุนไหลเข้า-ออก แต่มิได้มีพันธะอย่างชัดเจนว่า จะควบคุมการเคลื่อนไหวของค่าเงินมิให้เกินเท่าไรในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ
ทั้งนี้ความสำเร็จในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพานโยบายการเงินนั้น มิได้อยู่ที่เนื้อหาสาระของตัวนโยบายเท่านั้น แต่อยู่ที่การทำให้ภาคเอกชนตัดสินใจตามสัญญาณ (signal) ที่รัฐบาลส่งให้ผ่านมาตรการต่าง ๆ และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่จะทำตามสัญญาณที่ภาครัฐส่งให้ด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อภาครัฐใช้กรอบการบริหารเศรษฐกิจมหภาคแบบ Rules
นั่นหมายความว่า แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการแบบเดียวกัน แต่หากใช้มาตรการนั้นภายใต้กรอบการบริหารแบบ Discretion จะประสบความสำเร็จน้อยกว่าภายใต้กรอบการบริหารแบบ Rules
ตัวอย่าง มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 นั้น เป็นเครื่องมือที่เป็นกลางในตัวเอง แต่การที่ ธปท. ประกาศใช้เครื่องมือนี้อย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นการบริหารแบบ Discretion แทนที่จะกำหนดไว้ก่อนว่า ธปท.ตั้งใจจะรักษาการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมิให้หลุดจากกรอบใดกรอบหนึ่ง ซึ่งเป็นการบริหารแบบ Rules ภาคเอกชนและภาคต่างประเทศจึงไม่เชื่อว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนลงในอนาคต ทำให้มาตรการแทรกแซงค่าเงินของ ธปท. ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงนโยบายทันที กลับส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมาก หรือทำให้เกิดความตื่นตระหนกในช่วงเวลาหนึ่ง
Currency band เป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวได้ภายในกรอบ (Band) ที่กำหนด หากค่าเงินหลุดออกนอกกรอบนี้แล้ว อัตราแลกเปลี่ยนจะกลายเป็นอัตราคงที่ที่ขอบเขตของ Band โดยอัตโนมัติ การที่ ธปท. มีพันธะที่จะต้องรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ใน Currency band ที่ประกาศไว้นั้น จึงนับได้ว่าเป็นกรอบการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Rules

ข้อดีของ Currency band คือ เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศและผลเชิงประจักษ์นั้นยืนยันว่า ระบบ Currency band จะทำให้ภาคเอกชนคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะคงอยู่ภายในช่วง band ที่รัฐกำหนด ความเชื่อดังกล่าวของภาคเอกชนจะส่งผลต่อพฤติกรรมในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง band ที่รัฐบาลกำหนดจริง ๆ แม้รัฐบาลมิได้เข้าไปแทรกแซง
ระบบ Currency band เป็นระบบที่อยู่ตรงกลางระหว่างระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่และระบบลอยตัว จึงได้ข้อดีของระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่คือเรื่องเสถียรภาพของค่าเงิน ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงใน band ได้ เพื่อลดภาระของ ธปท. ในการแบกรับต้นทุนจากการแทรกแซงค่าเงิน
การดำเนินนโยบายภายใต้ระบบ Currency band มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ประเด็นแรก คือ ช่วงของ Band ที่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวได้ จำเป็นต้องกว้างระดับหนึ่ง เพื่อให้ ธปท. สามารถจัดการบริหารได้จริง เนื่องจากรัฐบาลยังมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่ต้องดูแลคือดุลการชำระเงิน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับอัตราแลกเปลี่ยน Band จึงต้องกว้างพอจะให้ดุลการชำระที่ขาดดุลหรือเกินดุลมากเกินไปปรับตัวสู่สมดุลได้ นอกจากนี้ ความกว้างของ band ต้องสอดคล้องกับฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศด้วย หากช่วง band ยิ่งแคบเท่าไร จำนวนทุนสำรองที่จะใช้แทรกแซงเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่จะต้องมากขึ้นเท่านั้น การกำหนด band ที่แคบเกินไปจะทำให้นักเก็งกำไรไม่เชื่อมั่นว่า ธปท. จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนได้จริง จึงเป็นช่องให้เข้ามาโจมตีค่าเงินเหมือนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
ประเด็นที่สองที่ต้องพิจารณาคือ วิธีการที่ ธปท. จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ใน band ได้ วิธีการเดิมที่ ธปท. ใช้คือการเข้าไปแทรกแซงอุปสงค์และอุปทานในตลาดเงินตราต่างประเทศ แม้มีจุดเสี่ยงดังที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ อาจทำให้ ธปท. ขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงิน และอาจไม่สามารถรักษาอัตราแลกเปลี่ยนได้จริงหากทุนสำรองของประเทศมีน้อยกว่ากลุ่มทุนเก็งกำไรต่างชาติ
หันมาพิจารณาอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่ง ธปท. (เคย) ใช้เมื่อไม่นานมานี้ คือการควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างประเทศ (Capital control) แม้ที่ผ่านมานโยบายประเภทนี้ เช่นนโยบายกันสำรองร้อยละ 30 นั้นดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่หากใช้มาตรการนี้ภายใต้ระบบ Currency band ซึ่งถือว่าเป็นกรอบการบริหารนโยบายแบบ Rules นั้น นโยบาย Capital control น่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากผลด้านความเชื่อมั่นและการที่นักลงทุนสามารถคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม มาตรการ Capital control แม้ไม่สร้างภาระหนี้แก่ ธปท. แต่อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
โดยสรุป ระบบ Currency band มีหลักการเบื้องหลังที่ดีและสมควรนำไปประยุกต์ใช้ เนื่องจากธรรมชาติของการดำเนินนโยบายแบบ Rules ทำให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่น แต่การนำไปใช้จริงจำเป็นต้องมีการศึกษาอีกมาก ทั้งการศึกษาหาช่วงของ band ที่เหมาะสม และการศึกษาว่าวิธีการในการรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนแบบใดที่มีประสิทธิภาพที่สุด และมีต้นทุนน้อยที่สุด

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-03-14