เกม online นั้นสำคัญไฉน!!!

นิตยสารแม่และเด็ก
คอลัมน์ ครอบครัวสุขสันต์

 

...หนุ่มราชภัฏเครียด!  โดนแม่ด่าติดเกม ยิงขมับดับ…..

…อุทาหรณ์! หนุ่มเล่นเกมทั้งวันทั้งคืน จนตายคาคอม.....

....แพทย์ห่วงเด็กยุคดิจิตอล เป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม...

...เด็กติดเกมคลั่ง! ใช้มีดฟันหัวตำรวจยับ หลังเข้าห้ามทัพไม่ให้ทะเลาะกับปู่..

อ่านข่าวเกี่ยวกับ “เด็กติดเกม” ที่พบเห็นบ่อย ๆ เหล่านี้แล้ว  คงทำให้ผู้ปกครองต่างสะเทือนใจและไม่อยากให้เกิดขึ้นกับบุตรหลาน หรือคนในครอบครัวของเราอย่างแน่นอน

จากการสำรวจโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เก็บข้อมูลเด็กและเยาวชนกลุ่มตัวอย่าง 2 หมื่นคนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมี.ค.-มิ.ย.2556 ที่ผ่านมา  พบว่า ในจำนวนนี้ เป็นเด็กติดเกม ร้อยละ 15 เด็กกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง เมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม จนถึงขั้นทำร้ายพ่อแม่ผู้ปกครอง  มีพฤติกรรมหนีเรียน มีปัญหาการเรียนตกต่ำ เก็บตัวอยู่บ้านเพื่อเล่นเกม ไม่นอนในเวลากลางคืน ไม่เข้าร่วมกิจกรรม อารมณ์แปรปรวนง่าย

เด็กที่เข้าข่ายติดเกมรุนแรง จำเป็นต้องเข้าบำบัดรักษา ซึ่งปัจจุบันเด็กที่จะเข้ามารักษายังมีจำนวนน้อยมาก เฉลี่ยปีละ 30-40 คนเท่านั้น

            ในความเป็นจริง หากพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ในมุมหนึ่ง เกมสำหรับเด็ก ๆ นั้น มีหลายเกมที่เป็นประโยชน์ เช่น เกมบันไดงู เกมเศรษฐี เกมโดมิโน หมากรุก ฯลฯ ในอดีตการเล่นเกม จะต้องมีคนเล่นด้วยกันอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป และมีอุปกรณ์ประกอบการเล่น บ้างก็ทำขึ้นมาเอง หรือซื้อหามา  การเล่นเกมจึงเป็นการฝึกทั้งไหวพริบ การได้ปฎิสัมพันธ์กับคนอื่น การเรียนรู้จักแพ้รู้ชนะ ตลอดจนให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน  เป็นการผ่อนคลายความเครียดจากภาระหน้าที่การงาน ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างหนึ่ง

ในส่วนของเกม online  แม้ได้ฝึกฝนทักษะ ไหวพริบต่างๆ เช่นเดียวกับ  เกมธรรมดา ก็จริง หากมีความแตกต่างกันที่ขาดการปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น  เป็นการจดจ่อเล่นกับอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว  หากแพ้ในเกมสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ ทำให้เด็กขาดการเรียนรู้จักแพ้ชนะซึ่งถือเป็นการพัฒนาทางด้านอารมณ์และสังคมของเด็กที่สำคัญยิ่ง

สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป  จากที่ในอดีตจะมีเด็กในหมู่บ้านออกมาเล่นด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่  ก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคมต่อตัวเด็ก  แต่ปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กน้อยลง แต่ละครอบครัวมีบุตรเพียงครอบครัวละ 1-2 คน  หรือบางครอบครัวไม่มีเลย  สังคมที่ต่างคนต่างอยู่ พ่อแม่ไม่กล้าปล่อยลูกออกมาเล่นนอกบ้านเพราะเกรงว่าจะได้รับอุบัติเหตุ หรือถูกลักพาตัวไป  รวมถึงการไม่มีการคบหาสมาคมกับเพื่อนบ้าน  ตลอดจนพ่อแม่ต้องทำงานเพื่อหารายได้มาให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะต้องเล่นคนเดียวสูงขึ้น

การเล่นเกม online  จึงเข้ามามีบทบาทในการเป็นเพื่อนของลูกแทน  หลายครอบครัวยอมรับว่า ไม่มีเวลาเล่นกับลูกเนื่องจากภาระหน้าที่การงานมีมาก จำเป็นต้องซื้อไอแพดไอโฟนให้ลูกเล่นแทน หรือหลายท่านก็มีความคิดว่าควรให้ลูกได้เล่นเกมเพื่อฝึกทักษะของเด็กบ้าง  เป็นต้น

ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการเล่นเกม online  แต่ปัญหาคือ การที่เด็กเล่นเกมมากเกินไป หรือ เล่นเกมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดการหมกหมุ่น  เกิดผลเสียมากกว่าผลดีต่อเด็ก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องตระหนักและมีแนวทางการดูแลบุตรหลานให้เด็กได้รับประโยชน์จากการเล่นเกม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม

จัดสรรเวลาเจาะจงเพื่อทำกิจกรรมร่วมกับลุก พ่อแม่ควรจัดสรรเวลาคุณภาพให้แก่ลูก ในการทำกิจกรรมในครอบครัวร่วมกัน อาจหมายถึงการใช้เวลาเล่นเกมกับลูก และพูดคุยตามความสนใจของลูก ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวอยากฝากถึงผู้ปกครองทุกท่านว่า  แต่ละช่วงชีวิตของเด็กถือเป็นโอกาสทองที่ผู้ปกครองสามารถพัฒนาศักยภาพของเด็ก  การใส่ค่านิยมที่ถูกต้องดีงามให้แก่เขา รวมถึงเป็นการสร้างสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เงินไม่สามารถซื้อหามาได้ ผ่านไปแล้วผ่านไปเลย และงอกงามเมื่อเขาก้าวเข้าสู่วัยรุ่น  ถึงเวลานั้นอาจจะ “สายไปเสียแล้ว” ที่จะพร่ำสอนเขาก็เป็นได้

จัดหาเกมที่เหมาะสมกับวัยของลูก พ่อแม่ควรมีส่วนเป็นผู้คัดสรรและกลั่นกรองเกมที่ดี  ที่ช่วยพัฒนาทักษะการคิด ความสร้างสรร ฝึกฝนจินตนาการ  เสริมความรู้แก่เด็ก เป็นต้น  โดยนำเสนอให้ลูกเล่นอย่างเป็นธรรมชาติ หรือถ้าลูกมีเกมที่เล่นอยู่แล้ว ก็ควรเข้าไปมีส่วนร่วมเรียนรู้และเล่นกับลูก เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจยอมรับ ไม่ต่อต้าน ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิดหรือไม่ดี

กำหนดเวลาและข้อตกลงในการเล่น พ่อแม่ควรพูดคุยทำข้อตกลงกับเด็กว่าสามารถเล่นเกมได้วันละกี่ชั่วโมง ภายใต้เงื่อนไข ต้องทำการบ้าน อ่านหนังสือทบทวนความรู้  รวมถึงความรับผิดชอบในงานบ้านจนเสร็จเรียบร้อย เป็นต้น

ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ทั้งในเรื่องของการใช้งานในโปรแกรมต่าง ๆ การเขียนโปรแกรม เพื่อขยายความขอบเขตความสนใจใฝ่รู้มากขึ้นกว่าการเล่นเกม เช่น พ่อแม่หลายมีควาสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถสอนลูกเขียนโปรแกรมเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของลูกในการฝึกฝนจนเกิดเป็นอาชีพในอนาคตต่อไปได้ เป็นต้น

            “เกม online” เป็นเหมือนดาบ 2 คม มีคุณอนันต์ โทษมหันต์ พ่อแม่ต้องรู้เท่าทันจึงจะสามารถนำพาลูกรอดพ้นภ้ยอันเนื่องจาก “เกม online” ได้ ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ปกครองทุกคน
 

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ

Catagories: