รับมือหัวหน้า "อีโก้สูง"

เครียดกับงานยาก ๆ  ดีกว่าเครียดกับคนแย่ ๆ...
     ใครเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ ยกมือขึ้น?
     ผมเชื่อว่า หลายคนคงเห็นด้วย เพราะจากประสบการณ์ทำงานในบทบาทหน้าที่ และตำแหน่งต่าง ๆ มานานกว่า 30 ปี รวมทั้ง จากการได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ ลูกศิษย์ และผู้คนในแวดวงต่าง ๆ มักจะเครียดกับปัญหาเกี่ยวกับคน มากกว่าปัญหาเกี่ยวกับงาน ซึ่งแก้ไขได้ยากมากกว่า
     ...ยิ่งหากคนที่มีปัญหานั้นเป็น หัวหน้า หรือ ผู้บังคับบัญชา ด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความเครียดขึ้นอีกเป็นทวีคูณ เพราะไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อบุคคลเหล่านี้มี ?อีโก้สูง?

     คนที่มีอีโก้สูง หรือ big ego คือ คนที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ? ฉันใหญ่กว่า ฉันเก่งกว่า ฉันถูกต้องกว่า ฉันเหนือกว่า...มักแสดงอาการเย่อหยิ่ง โอ้อวด หลงตัวเอง ดูถูกคนอื่น ฯลฯ
     หัวหน้างานที่อีโก้สูงมักชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ เอาแต่ใจตัวเอง ชอบครอบงำความคิด เจ้ากี้เจ้าการ ควบคุมทุกฝีก้าว ไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง..ห้ามแย้ง ห้ามขัด ห้ามเถียง เห็นต่างนิดนึงก็ไม่ได้ ตัดสินใจผิดก็ยังดึงดันเพราะชอบเอาชนะและกลัวเสียหน้า
     หัวหน้างานที่อีโก้สูงมีแนวโน้มทำให้ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมลดลง ทีมงานขาดกำลังใจ / ขาดเอกภาพและการร่วมแรงร่วมใจ เช่น เมื่อหัวหน้าแสดงความหยิ่ง วางอำนาจเหนือกว่า ไม่ยอมรับฟัง ย่อมทำให้ลูกน้องไม่อยากทำงานด้วย ทำงานด้วยความทุกข์ขมขื่น และเกิดความรู้สึกอยากลาออกจากงาน
     ที่สำคัญ หัวหน้างานที่อีโก้สูงมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาด เพราะความเย่อหยิ่ง เชื่อมั่นตัวเองสูง ไม่ฟังใคร ทำให้งานภาพรวมและองค์กรเสียหาย
     คำถามคือ เมื่อเราต้องร่วมงานกับหัวหน้างานที่มีอีโก้สูงแบบนี้..เราจะทำอย่างไร?
     คนทำงานจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจหางานใหม่ ลาออกดีกว่า อยู่ไปก็เสียเวลา เสียอารมณ์ อาจเสียอนาคตเพราะทนไม่ไหว ต้องตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง หรือมิเช่นนั้นก็อาจจะตอบสนองในทางตรงกันข้าม ต่อหน้าไม่ตอบโต้ และหาโอกาสเล่นงานกลับ ตั้งแต่ระดับอ่อน ๆ เช่น จับกลุ่มนินทาลับหลัง หลบเลี่ยงไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ทำตามคำสั่ง หรือถึงขนาดเขียนบัตรสนเท่ห์ แฉพฤติกรรมให้คนทั่วไปได้รับรู้ ฯลฯ แต่วิธีเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้จริง 
     ทางที่ดีกว่า หากเราต้องเผชิญหน้ากับหัวหน้างานอีโก้สูง ถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม และเห็นว่าพฤติกรรมของเขานั้น ส่งผลเสียหายทั้งต่อคนทำงาน ประสิทธิภาพการทำงาน และองค์กรในภาพรวม สิ่งที่เราควรทำเพื่อ ?แก้ไข? พฤติกรรมดังกล่าว ได้แก่
     กล้าขอนัดคุยส่วนตัว ความขัดแย้งหลายครั้งแก้ไขได้ด้วยการพูดคุย อย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น การสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจ และรู้จักอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเราเห็นว่า อีโก้ของเขากำลังสร้างปัญหาให้กับตัวเรา คนอื่น ๆ และองค์กร ให้เรากล้าเข้าไปขอนัดเวลาส่วนตัว เพื่อสนทนากับหัวหน้าตามลำพัง โดยบอกว่า ต้องการขอปรึกษาเรื่องสถานการณ์การทำงาน และขอคำปรึกษาว่าจะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับหัวหน้าอย่างไร โดยต้องการเวลาประมาณ ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง 
     การพูดคุยควรทำอย่างไม่เป็นทางการ เสนอว่าควรนัดสถานที่นอกออฟฟิศ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ฯลฯ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ทำให้การรับฟังสิ่งที่เราจะพูดนั้นง่ายขึ้น 
     ก่อนพูดคุย ? เตรียมประเด็นให้ชัด ก่อนที่จะเข้าไปพูดคุย ให้เราจดประเด็นที่เราต้องการพูดคุยอย่างเจาะจง และครบถ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกกลัว ความประหม่าเมื่ออยู่ต่อหน้า เสนอว่าให้เราเขียนตัวอย่าง พฤติกรรมที่ไม่ดีต่าง ๆ ของหัวหน้าให้ชัดเจน - ทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนทำงาน และงานภาพรวมมากที่สุด เลือกมาประมาณ 3 เรื่อง และเขียนทางแก้ปัญหาที่เราคิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดลงไป เพื่อเป็นข้อเสนอแก่หัวหน้า ในเวลาที่เราเข้าไปคุย
     ขณะพูดคุย ? รักษาบรรยากาศ ควบคุมอารมณ์ เมื่อเริ่มต้นการพูดคุย เราต้องแสดงออกถึงความห่วงใยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และกล่าวชื่นชมส่วนดีที่เขาทำก่อน เพื่อให้เขารู้สึกดีที่จะรับฟังเราต่อไป เช่น ชื่นชมต่องานหรือความตั้งใจดีของหัวหน้าที่ต้องการให้งานออกมาดี จากนั้นค่อยอธิบายประเด็นที่มีต่ออีโก้ของเขา   
     ในระหว่างการพูดคุย รักษาบรรยากาศ ให้เราควบคุมอารมณ์ตนเองให้สงบ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราได้คิดใคร่ครวญมาเป็นอย่างดีแล้ว ก่อนตัดสินใจมาพูดคุยด้วย พูดให้ชัดเจนว่า เรามีประเด็นอะไรกับเขา และแสดงให้เห็นว่า ที่มาพูดมิได้เพื่อต่อว่าหรือจับผิด แต่เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกที่มี และต้องชี้ให้หัวหน้าเห็นอย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมของเขานั้น ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเรา ของคนทำงานอื่น ๆ และผลงานภาพรวมทั้งหมดอย่างไร  พยายามให้หัวหน้ารับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสงบที่สุด
     ก่อนจบ ? ขอข้อเสนอแนะทางแก้ปัญหา เราต้องสื่อสารไปว่า ที่เรามาพูดคุยนี้ เพื่อต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้างานกับคนทำงานให้ดีขึ้น ให้เราถามความคิดเห็นของหัวหน้าถึงความคาดหวังที่เขามีต่อผู้ร่วมงาน และอะไรที่เราสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ และถามเขาว่าจะทำให้สัมพันธภาพที่ดีเกิดขึ้นได้อย่างไร เราควรจะทำอย่างไร จึงทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากนั้นให้เราเสนอข้อเสนอแนะที่เตรียมมาไปพร้อม ๆ กันด้วย
     หากหัวหน้างานเปิดใจรับฟัง ย่อมช่วยให้เขารู้ตัวและยินดีปรับลดอีโก้ที่ไม่เหมาะสมลงได้ ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศการทำงานที่มี ?ความสุข? กลับฟื้นคืนขึ้นมาได้..