ความขัดแย้งในซีเรีย บทเรียนสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนใต้


แหล่งที่มาของภาพ : http://www.worldcrunch.com/images/story/0b325a346b6ce945040f9167fe624768_396268_246046692148569_395483367_n.jpg

นับตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศซีเรียเริ่มลุกลามบานปลาย ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศจุดยืน

เรียกร้องให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ก้าวลงจากตำแหน่ง ถ่ายโอนอำนาจแก่ประชาชนโดยสันติ และนำประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตย ตลอดสองปีครึ่งของการสู้รบ ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านผลัดกันรุกรับไม่มีฝ่ายใดชนะขาด ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตราว 1 แสนคนและยังคงเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับผู้อพยพลี้ภัยที่ได้ลงทะเบียนกับสหประชาชาติสูงถึง 1.8 ล้านคนแล้ว

สถานการณ์ในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมาตึงเครียดมากขึ้น เมื่อมีการแสดงหลักฐานการใช้อาวุธเคมี ซึ่งรัฐบาลโอบามายืนยันว่าระบอบอัสซาดเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีโจมตีฝ่ายต่อต้าน และเคยประกาศว่าจะต้องเข้าจัดการขั้นเด็ดขาด และไม่นานมานี้มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอเมริกันได้เพิ่มการสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน เช่น การให้อาวุธทันสมัย การส่งเจ้าหน้าที่ซีไอเอไปสอนวิธีการใช้อาวุธ ในขณะที่ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลโอบามากับรัสเซีย พยายามจัดการประชุมเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธี

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาได้เสนอทางเลือกแผนสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ซึ่งมีการช่วยเหลือทางทหารหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การฝึกกองกำลังฝ่ายต่อต้าน จนถึงการสนับสนุนด้วยกำลังรบทางอากาศ จัดตั้งเขตห้ามบิน (no-fly zone) ในการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอาจต้องใช้งบประมาณราว 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนการสนับสนุนด้วยการโจมตีทางอากาศต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ การบังคับเขตห้ามบินจะต้องใช้งบประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน ส่วนแนวคิดว่าจะตั้งเขตปลอดภัย (buffer zones) ในพรมแดนที่ติดกับตุรกีกับจอร์แดนจะต้องจัดตั้งเขตห้ามบินและมีทหารอเมริกันภาคพื้นดินช่วยรักษาความปลอดภัยอีกหลายพันนาย

รายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อสังเกตว่าหากสหรัฐตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าร่วมในสงครามจะทำให้สหรัฐจะต้องพัวพันกับสถานการณ์ในซีเรียมากขึ้น และอาจจะกระตุ้นให้พวกสุดโต่งลุกขึ้นต่อต้านอเมริกา ในรายงานยังมีการประเมินว่าระบอบอัสซาดยังคงแข็งแกร่งแม้ถูกหลายประเทศคว่ำบาตรทางการเมืองและเศรษฐกิจก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมากองทัพรัฐบาลอัสซาดเป็นฝ่ายรุกคืบ ยึดคืนพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจของฝ่ายต่อต้านกลับคืนมาได้มากขึ้น
จากสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรียที่ยืดเยื้อยาวนาน ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ง่าย และดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลซีเรียกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบในการสู้รบเสียด้วยซ้ำ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอาหรับอื่นๆ ที่เผชิญปรากฏการณ์อาหรับสปริงเป็นเหตุให้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นต้องลงจากอำนาจในเวลาอันรวดเร็ว

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมรัฐบาลอัสซาดยังสามารถต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านที่มีมหาอำนาจอย่างสหรัฐหนุนหลังได้อย่างยาวนาน และไม่ได้อยู่ในสถานะที่เพลี่ยงพล้ำ ผมได้วิเคราะห์ปัจจัยอย่างน้อยสองประการที่ทำให้รัฐบาลซีเรียยังไม่ล้มไปตามประเทศอื่นที่เกิด ปรากฏการณ์อาหรับสปริง

ประการแรก คือการยึดโยงผลประโยชน์กับมหาอำนาจ เหตุผลที่สหรัฐไม่สามารถจัดการปัญหาในซีเรียได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและความสูญเสียในสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก ทำให้รัฐบาลขาดแรงสนับสนุนจากประชาชนในประเทศในการช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน แต่เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือการที่รัฐบาลซีเรียใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซื้อจากรัสเซีย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไปโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รัสเซียก็ได้เข้ามามีผลประโยชน์ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลซีเรียแล้ว

ถึงแม้ว่าสหรัฐได้พยายามแสดงหลักฐานว่า รัฐบาลซีเรียมีการใช้อาวุธเคมีซึ่งเป็นประเด็นที่อาจทำให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงได้ แต่ด้วยเหตุที่รัสเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งมีสิทธิยับยั้ง (veto) มติการส่งกองกำลังเข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ รัสเซียคงไม่ลงมติใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตนเอง รัฐบาลสหรัฐก็ทราบความเชื่อมโยงของผลประโยชน์ดังกล่าว สหรัฐจึงต้องใช้การเจรจากับรัสเซียเพื่อหาทางออกของความขัดแย้งในซีเรีย

ประการที่สอง คือ การแสวงหาแนวร่วม ความเข้มแข็งของกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลซีเรียเกิดจากการได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นองค์กรของชาวมุสลิมชีอะห์ในเลบานอนที่มีกองกำลังเป็นของตนเอง และเป็นกองกำลังที่เชื่อกันว่าได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากซีเรียและฮิซบอลเลาะห์ต่างก็มีศัตรูร่วมกันคืออิสราเอลและสหรัฐ

การนำประเด็นความขัดแย้งภายในประเทศไปเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาของภูมิภาคตะวันออกกลางที่โลกมุสลิมมีความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับอิทธิพลของสหรัฐและอิสราเอล ทำให้ซีเรียมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทั้งโดยเปิดเผยและโดยทางลับจากประเทศที่เป็นศัตรูกับอิสราเอล ในทางกลับกันรัฐบาลสหรัฐต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าร่วมในการสู้รบในซีเรีย เพราะอาจทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากโลกมุสลิมและอาจทำให้สงครามขยายวงมากขึ้น

จากปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์การต่อสู้ของรัฐบาลซีเรียสองประการข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลซีเรียหรือไม่ก็ตาม ยุทธศาสตร์เหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะการต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยไม่กล่าวถึงความถูกต้องของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และไม่ได้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด กรณีของซีเรียทำให้ผมเกิดแนวคิดเบื้องต้นในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้

แนวคิดแรก การทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่นานาชาติ (Internationalization) โดยการเลือกบางพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แล้วทุ่มสรรพกำลังในการกวาดล้างเครือข่ายผู้ก่อความไม่สงบออกจากพื้นที่และรักษาพื้นที่ให้ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงจัดตั้งให้พื้นที่นี้เป็น ?เขตเศรษฐกิจพิเศษ? เพื่อดึงการลงทุนจากประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย จีน สหรัฐ ตะวันออกกลาง เป็นต้น โดยให้สิทธิพิเศษในการลงทุนและสิทธิการอยู่อาศัยในระดับที่มากกว่าพื้นที่อื่น วิธีนี้จะทำให้นานาชาติมีผลประโยชน์ร่วมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยินดีให้ความร่วมมือกับไทยในการรักษาความสงบในพื้นที่ รวมทั้งช่วยเป็นปากเสียงให้กับไทยในเวทีระหว่างประเทศด้วย

แนวคิดที่สอง การสร้างแนวร่วมต่อต้านการก่อความไม่สงบ ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งองค์กรภูมิภาคระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดน โดยประเทศไทยอาจร่วมกับมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งต่างก็มีปัญหาการก่อการร้ายและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหมือนกัน และทั้งสองประเทศนี้ต่างก็กังวลว่าอาเซียนจะกลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะผู้ก่อการร้ายแหล่งใหม่ การจัดตั้งองค์กรนี้จะทำให้เกิดความร่วมมืออย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งทำให้การจัดการกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลจะต้องป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ยุทธศาสตร์ทั้งสองประการในการสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง และสร้างความได้เปรียบในเวทีระหว่างประเทศด้วย

จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น เราสามารถเรียนรู้บทเรียนจากปัญหาความขัดแย้งในต่างประเทศได้ ทั้งกรณีที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย เช่น ฟิลิปปินส์ จีน เป็นต้น หรือแม้แต่จากสถานการณ์ที่แตกต่างจากประเทศไทยเช่นกรณีของซีเรีย

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://tb.ziareromania.ro/Romanii-din-Siria-cer-sa-fie-repatriati/614af103429381cdf8/240/0/1/70/Romanii-din-Siria-cer-sa-fie-repatriati.jpg