ความท้าทายที่มีต่อภูฏาน และ GNH


ที่มาของภาพ : http://www.thawanholiday.net/images/sub_1307494249/Bhutan%281%29.jpg

         ประเทศภูฏานมีชื่อเสียงในแง่ของการเป็นประเทศแถวหน้า ที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีความสุขที่สุดในโลกและเป็นต้นแบบของการใช้ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness (GNH) วัดความเจริญก้าวหน้าของการพัฒนาประเทศ

         ในความคิดเดิมของผม ภาพลักษณ์ของภูฏานเป็นประเทศที่ประชาชนมีความสมถะตามหลักศาสนา ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง ไม่ติดกับดักวัตถุนิยม และรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมอันดีงาม บ้านเมืองมีความสงบสุข ปลอดภัย สะอาด และมีสภาพแวดล้อมที่ดี

         แต่เมื่อไม่นานนี้ ผมได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาในการประชุมเกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศภูฏาน ที่เมืองทิมพูประเทศภูฏาน ผมได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับชนชั้นนำของภูฏาน และได้ออกไปเยี่ยมเยือนและสังเกตการณ์บ้านเมือง ผู้คน และสังคม ทำให้ความคิดของผมเปลี่ยนไป

         การใช้ GNH เป็นธงนำในการพัฒนาประเทศนั้น เกิดจากความจริงใจระดับหนึ่งของชนชั้นนำของภูฏาน และการวัดระดับการพัฒนาประเทศโดยใช้ GNH สะท้อนถึงความพยายามของชนชั้นนำในการกล่อมเกลาประชาชนให้ไม่ยึดติดกับวัตถุนิยม

         อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตที่ผมได้รับจากการไปเยือนภูฏานทำให้ผมเกิดข้อสงสัยว่า ภูฏานจะรักษาแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเป้าหมายในการยกระดับความสุขมวลรวมไว้ได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลภูฏานจะต้องเผชิญความท้าทายบางประการที่อาจทำให้ไม่สามารถรักษาแนวทางการพัฒนาเช่นนี้ไว้ได้

ประการแรก กับดักวัตถุนิยม

         เศรษฐกิจภูฏานขยายตัวในระดับสูง โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยระหว่างปี 2525 ถึง 2552 สูงถึงร้อยละ 7.6 ต่อปี ส่งผลทำให้จำนวนคนยากจนลดลงอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 63.5 ในปี 2542 เหลือร้อยละ 12 ในปี 2555การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจมาพร้อมกับกับดักวัตถุนิยม ซึ่งทำให้คนภูฏานมีความต้องการแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้ยึดติดค่านิยมหรือใช้ชีวิตแบบสมถะอีกต่อไป

         จากการพบปะกับประชาชนของภูฏาน ผมสังเกตพบว่า คนภูฏานไม่ได้แตกต่างอย่างชัดเจนจากคนทั่วโลก ในแง่ของความต้องการวัตถุสิ่งของ ผลประโยชน์ และรายได้ และไม่ได้มีความสมถะมากกว่าคนในประเทศอื่นมากนัก ซึ่งต่างจากที่ผมเคยคาดว่าภูฏานจะไม่ติดกับดักนี้

         GNH จึงอาจเป็นเพียงไม้ค้ำยันจิตใจที่ทำให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้น และให้กำลังใจในยามที่มีรายได้น้อย แต่เมื่อประชาชนภูฏานมีรายได้มากขึ้น สังคมภูฏานอาจจะไม่ต่างจากประเทศอื่นในโลก เพราะคนภูฏานอาจไม่ได้ฝังแน่นกับความสมถะแบบเดิม GNH จึงเป็นเพียงตัวกล่อมเกลาความรู้สึก แต่ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของการแก้ปัญหา

ประการที่สอง การขัดกันของเป้าหมายการพัฒนา

         รัฐบาลภูฏานมีความต้องการหารายได้เพิ่ม เนื่องจากประเทศภูฏานมีข้อจำกัดมากจากการที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และดูเหมือนไม่มีทางเลือกมากนักในการหารายได้ รัฐบาลจึงพยายามหารายได้โดยการกู้เงินมาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

         ประเทศภูฏานมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำได้สูงถึง 3 หมื่นเมกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบของประเทศไทยในปัจจุบัน รัฐบาลภูฏานมีแผนสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2563 ซึ่งหมายความว่า จะต้องสร้างเขื่อนเป็นจำนวนมากในอนาคต ซึ่งจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปในระดับหนึ่ง

         ความต้องการหารายได้เพิ่มขึ้นไม่ใช่ความผิด เพราะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่นโยบายสร้างรายได้ให้กับประเทศอาจต้องแลกมาด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปจากการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดการขัดกันระหว่างสองเป้าหมายใน GNH คือ มาตรฐานการครองชีพและการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ ภูฏานจะรักษาความสมดุลของเป้าหมายเหล่านี้ไว้ได้หรือไม่

ประการที่สาม การถาโถมของวัฒนธรรมต่างชาติ

         ประเทศภูฏานมีแหล่งรายได้สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศภูฏานมีทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรทางวัฒนธรรม การเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ย่อมมาพร้อมกับวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของภูฏาน ซึ่งอาจทำให้ภูฏานไม่สามารถอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ได้

         รัฐบาลภูฏานมีความตระหนักในประเด็นดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อนุญาตให้เข้าประเทศได้ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองไว้ การดำเนินนโยบายนี้ยังสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามแนวทางของ GNH เนื่องจากการอนุรักษ์วัฒนธรรมเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่อยู่ใน GNH ของภูฏาน

         อย่างไรก็ดี รัฐบาลภูฏานต้องเผชิญกับความท้าทายที่ว่า ภูฏานจะรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลและประชาชนมีความต้องการแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่การเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศกลับมีความเสี่ยงต่อการทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของภูฏาน

         ทั้งนี้ การได้ไปเยือนเมืองทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน แม้เมืองนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและวัฒนธรรม แต่กลับมีปัญหาไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น น้ำเน่า ขยะ ขอทาน สุนัขจรจัด เป็นต้น รวมทั้งมีสถานบันเทิง ร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไนท์คลับ ผับ เหมือนกับประเทศอื่น ผมจึงไม่แน่ใจว่าสังคมภูฏานจะเป็นต้นแบบของสังคมที่เป็นคำตอบได้อย่างแท้จริง

ประการที่สี่ อิทธิพลของมหาอำนาจ

         ภูฏานเป็นประเทศเล็กที่อยู่ระหว่างประเทศมหาอำนาจใหม่สองประเทศคือ จีนและอินเดีย ประเทศภูฏานจึงหลีกหนีจากอิทธิพลของมหาอำนาจทั้งสองนี้ไปไม่ได้
         ปัจจุบันรายได้ของรัฐบาลภูฏานส่วนหนึ่งมาจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย เนื่องจากอินเดียต้องการให้ภูฏานเป็นรัฐกันชนกับจีน สินค้าอินเดียทะลักเข้ามาในภูฏานจำนวนมาก การจัดทำโครงการต่างๆ ต้องพึ่งพาเงินทุนจากอินเดียเป็นหลัก และกระแสไฟฟ้าที่ภูฏานผลิตได้ส่วนใหญ่ถูกขายให้กับอินเดีย
         รัฐบาลปักกิ่งมีความพยายามแผ่อิทธิพลมายังภูมิภาคเอเชียใต้เช่นกัน ดังตัวอย่างของการลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือในหลายประเทศ เช่น ท่าเรือจิตตะกองในบังคลาเทศ ท่าเรือโคลอมโบในศรีลังกา ท่าเรือกวาดาร์ในปากีสถาน เป็นต้น รัฐบาลจีนยังมีแผนขุดเจาะอุโมงค์เพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระหว่างทิเบตและเนปาล ดังนั้น ภูฏานจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของจีนที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในการลงทุนพัฒนาแหล่งพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของจีน

         อิทธิพลของมหาอำนาจจะทำให้รัฐบาลภูฏานต้องเผชิญความท้าทายในการกำหนดทางเดินของตนเอง ภูฏานจะได้รับข้อเสนอที่ปฏิเสธได้ยาก ทั้งด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งผลประโยชน์ต่างๆ จากประเทศมหาอำนาจ แต่อาจทำให้รัฐบาลภูฏานสูญเสียอิสระในการกำหนดนโยบายการพัฒนาของตัวเอง โดยเฉพาะการสูญเสียความสามารถในการธำรงรักษาแนวทางการพัฒนาบนฐาน GNH

         การพัฒนาประเทศโดยไม่ยึดเป้าหมายทางวัตถุเพียงอย่างเดียว แต่พิจารณาถึงความเชื่อมโยงและความสมดุลของเป้าหมายต่างๆ ตลอดจนความอยู่ดีมีสุขทั้งกายและใจ และความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา แม้เป็นสิ่งที่ดี และอาจมีผลต่อค่านิยมของประชาชนภูฏานในระดับหนึ่ง แต่ด้วยความท้าทายข้างต้น ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าภูฏานจะสามารถรักษาแนวทางการพัฒนาแบบ GNH ได้ต่อไปหรือไม่

         ถึงกระนั้น ผมเชื่อว่าภูฏานคงยกเลิก GNH ไม่ได้ เพราะหลายประเทศมองภูฏานเป็นต้นแบบของการพัฒนา แต่ผมมีความสงสัยว่า เมื่อประเทศภูฏานมีรายได้เพิ่มขึ้น จะมีความแตกต่างจากประเทศอื่นหรือไม่ และจะยังใช้ GNH เป็นธงในการพัฒนาด้วยน้ำหนักเท่าเดิมหรือไม่ ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าสังคมภูฏานจะเป็นอย่างไร และจะมีวิธีรักษาสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

         ผมสนับสนุนแนวทางการพัฒนาประเทศที่ให้ความสนใจเป้าหมายอื่นๆ นอกเหนือจากเป้าหมายทางเศรษฐกิจด้วย ไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความอยู่ดีมีสุข และธรรมาภิบาล และหวังว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยที่รับอิทธิพลจากภูฏานในการเป็นต้นแบบการพัฒนา คงจะนำหลักการที่ดีไปใช้ประกอบคิดและสร้างแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับประเทศของตนเอง ไม่ใช่การพุ่งถลาไปในแนวทางเดียวกับภูฏานโดยขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ : https://unitabouthappiness.files.wordpress.com/2013/04/gnh-index-blog.png