อิสราเอลรัฐที่ต้องปกป้องตนเองเพื่อความอยู่รอด


แหล่งที่มาของภาพ : 
http://www.thaingo.org/images3/palestine.gif

ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2013 นายเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้กล่าวถึงความจำเป็นที่อิสราเอลต้องป้องกันตนเองเพื่อความอยู่รอดของประเทศ และโยงใยประเด็นต่างๆ ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจดังนี้

ข้อแรก อ้างสิทธิความชอบธรรมเชิงประวัติศาสตร์ของรัฐอิสราเอล

เป็นอีกครั้งที่ผู้นำประเทศอิสราเอลกล่าวอ้างความชอบธรรมด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูบรรยายว่าอิสราเอลเป็นชนชาติเก่าแก่ย้อนหลังได้เกือบ 4000 ปีนับตั้งแต่บรรพบุรุษอับราฮัม (Abraham) ตลอดประวัติศาสตร์ได้เอาชนะปฏิปักษ์ที่ยิ่งใหญ่มากมาย และปัจจุบันได้เป็นรัฐอธิปไตยบนดินแดนบรรพบุรุษ ดินแดนของอิสราเอล

ถ้ามองในกรอบทฤษฎีหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นความจริงที่เคยมีอาณาจักรอิสราเอลมาก่อน แต่การอ้างประวัติศาสตร์ในเวทีระหว่างประเทศเช่นนี้มี

แต่จะทำให้เกิดข้อโต้แย้งอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะในทำนองเดียวกัน อิสราเอลจะสามารถถูกอ้างกลับว่าดินแดนดังกล่าวก่อนหน้านั้นก็ไม่ใช่ของอิสราเอลเช่นกัน หรือก่อนที่จะเกิดรัฐอิสราเอลปัจจุบันก็ไม่ใช่ดินแดนที่อิสราเอลปกครอง หากประเทศอื่นๆ ชนชาติอื่นๆ ทั่วโลกอ้างเรื่องทำนองนี้คงจะทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายกันทั่วโลก

เมื่อพูดถึงรัฐชาติในยุคปัจจุบันหรือรัฐสมัยใหม่ที่เริ่มเกิดขึ้นหลังสนธิสัญญาสันติภาพเวสฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ในปี ค.ศ.1648 หลังเหตุสงคราม 30 ปี (Thirty Years War) เป็นจุดเริ่มต้นที่แต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตย มีอำนาจสูงสุดในตัวเอง ไม่อยู่ภายใต้อำนาจศาสนาหรืออำนาจอื่นใด และนานาชาติให้การยอมรับ อิสราเอลเคยตกอยู่ในสภาพนี้เมื่อปี 1948 ในตอนนั้นสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตยอมรับความเป็นรัฐอิสราเอล แต่ชาติอาหรับใกล้เคียงเห็นว่ารัฐอิสราเอลที่ประกาศนั้นเป็นดินแดนที่ชาวยิวรุกราน จึงเป็นความชอบธรรมที่จะส่งทหารเพื่อขับไล่ผู้รุกราน

คำพูดของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูในประเด็นนี้ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากคนในประเทศ แต่จะตอกย้ำให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะชาติอาหรับคิดเห็นขัดแย้งต่อไป

ข้อสอง อิหร่านคุกคามอิสราเอลหรืออิสราเอลคุกคามอิหร่าน

สุนทรพจน์ในปีนี้มุ่งเป้าเจาะจงที่อิหร่านเป็นหลัก ทั้งๆ ที่อิสราเอลมีภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางทหารหลายเรื่อง คงเป็นเพราะรัฐบาลอิสราเอลกำลังมุ่งจัดการอิหร่านโดยเฉพาะกรณีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ที่หลายประเทศกำลังให้ความสนใจ ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) แห่งอิหร่านผู้เพิ่งดำรงตำแหน่งไม่กี่เดือนกำลังพยายามเจรจาเพื่อขอยุติการคว่ำบาตร จึงเป็นโอกาสดีที่อิสราเอลจะจัดการปัญหานิวเคลียร์อิหร่านให้เด็ดขาด

ในมุมมองของอิสราเอล ภัยคุกคามที่สำคัญในขณะนี้คือประเทศอิหร่านที่แสดงท่าทีต้องการทำลายล้างอิสราเอล ถึงขนาดต้องการลบประเทศอิสราเอลออกจากแผนที่ และเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่านที่ดำเนินการมาแล้วหลายทศวรรษ แม้ผู้นำอิหร่านหลายท่านรวมทั้งประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะกล่าวซ้ำหลายครั้งว่าต้องการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูตั้งคำถามว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์มีจุดที่น่าสงสัยหลายประการ เช่น ทำไมต้องตั้งโรงงานในชั้นใต้ดินที่มีระบบป้องกันภัยแน่นหนาผิดปกติ ทำไมต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ทั้งที่อิหร่านมีน้ำมันมหาศาล ทำไมต้องเป็นเตาปฏิกรณ์น้ำมวลหนัก (heavy-water reactor) ทำไมต้องพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลหลายพันกิโลที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ ทำไมจึงแข็งขืนพัฒนาโครงการแม้นานาชาติคว่ำบาตร ยอมให้ประชาชนต้องทนทุกข์ยากลำบาก ทั้งๆ ที่พูดว่าโครงการมีเพื่อใช้ประโยชน์ในทางสันติ

หากรัฐบาลอิสราเอลเห็นว่ารัฐบาลอิหร่านเป็นภัยคุกคาม ในอีกแง่หนึ่งอิหร่านก็เห็นว่าอิสราเอลเป็นภัยคุกคามเช่นกัน เห็นว่าอิสราเอลต้องการล้มล้างระบอบรัฐบาลอิหร่านในปัจจุบัน โดยชี้ว่าอิสราเอลมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองมานานหลายสิบปีแล้ว แม้จะไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดแต่หลายประเทศทั่วโลกเชื่อเช่นนั้น

ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาตินายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูกล่าวว่าอิสราเอลจะไม่ยินยอมให้ประเทศที่ประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะลบอิสราเอลออกจากแผนที่มีอาวุธนิวเคลียร์โดยเด็ดขาด อิสราเอลจะไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ อิสราเอลมีทางเลือกเดียวคือต้องป้องกันตนเอง และพร้อมที่จะดำเนินการด้วยตนเองด้วยตระหนักว่าในสถานการณ์เช่นนั้นจะต้องปกป้องตนเองจากศัตรูจำนวนมาก

ในภาวะที่ต่างฝ่ายต่างระแวงต่อกัน เป็นการยากที่จะบอกว่าใครคุกคามใคร อิสราเอลกำลังป้องกันตนเองหรืออิหร่านกำลังป้องกันตนเอง ที่แน่นอนคือต่างอยู่ในบริบทที่ไม่เป็นมิตรต่อกัน แสดงพฤติกรรมแข็งกร้าวต่อกัน

ข้อสาม ข้อกล่าวหาว่าอิหร่านต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์

โครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านมีประเด็นที่น่าสงสัยหลายประการดังที่นายกเนทันยาฮูกล่าวจริง บางข้อเป็นเหตุให้คณะมนตรีความมั่นคงลงมติคว่ำบาตรเมื่อปี 2006 แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งรัฐบาลอิสราเอลมักกล่าวเกินจริงเสมอเช่นกัน ดังที่นายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านกล่าวว่า "เป็นเวลา 22 ปีแล้วที่ระบอบไซออนนิสต์ (Zionist regime) พูดโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่จบสิ้นว่าอิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ภายในหกเดือน" ดังนั้นได้เวลาแล้วที่ "โลกต้องเข้าใจความจริงของคำโป้ปดเหล่านี้และไม่ยอมให้เกิดขึ้นซ้ำอีก"

รัฐบาลอิสราเอลไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีความเชื่อความกังวลว่าอิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์ในไม่ช้า บางครั้งกล่าวว่าภายในสองสามปี บางครั้งกล่าวว่าภายในหกเดือน แต่แล้วก็พิสูจน์ว่าเป็นเท็จ มีนักวิชาการ งานวิจัยหลายชิ้น หนังสือหลายเล่มที่พูดทำนองดังกล่าวเช่นกัน

รัฐบาลอิหร่านบางยุคบางสมัยอาจมีความประสงค์อยากมีอาวุธนิวเคลียร์ สามารถย้อนหลังถึงทศวรรษ 1970 แต่ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าอิหร่านยังไม่มีจริง และกลายเป็นว่าอิสราเอลกับอีกหลายคนพูดเกินจริง พยายามสร้างกระแสให้วิตกกังวลต่อเรื่องดังกล่าว

ในมุมกลับกันองค์กรด้านความมั่นคงนานาชาติหลายแห่ง รัฐบาลหลายประเทศเชื่อว่าอิสราเอลมีอาวุธนิวเคลียร์นับร้อยลูกและมีมานานหลายปีแล้ว ในขณะที่รัฐบาลอิสราเอลปฏิเสธเรื่องนี้มาโดยตลอด

ขณะนี้ฝ่ายสหรัฐฯ กับอิสราเอลเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเจรจากับอิหร่าน หากสองประเทศมองเป้าหมายการเจรจาไม่เป็นเพียงการแก้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน แต่คือการปรับความสัมพันธ์กับอิหร่าน การปรับความสัมพันธ์กับชาติอาหรับ การสร้างความเคารพต่อกัน การแสดงความปรารถนาที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ เป็นโอกาสอันดีที่อิสราเอลจะเริ่มต้นหน้าประวัติศาสตร์ที่อยู่อย่างสันติดังที่ใฝ่ฝันมานานหลายร้อยปี ปัญหาจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายตรงข้ามอิสราเอลเท่านั้นแต่ขึ้นอยู่กับอิสราเอลกับพันธมิตรด้วยเช่นกัน หากอิสราเอลและพันธมิตรปรับท่าทีการแสดงออกเสียใหม่ จากนี้อีกไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีจะเป็นช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์รัฐอิสราเอลสมัยใหม่

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.bloggang.com/data/j/joynfriends/picture/1247318276.jpg