การล่วงละเมิดทางเพศในอินเดีย สัญญาณเตือนภัยประเทศไทย

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปัญหาอาชญากรรมที่ทุกประเทศทั่วโลกควรให้ความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินเดีย เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานสถิติอาชญากรรมแห่งชาติในประเทศอินเดีย (National Crime Records Bureau) เป็นที่น่าตกใจว่า คดีข่มขืนที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 2,481 คดีในปี พ.ศ. 2514 เป็น 24,206 คดีในปี ค.ศ. 2554 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.86 ต่อปี


จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การดำรงชีวิตของผู้หญิงในประเทศอินเดียอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก และมีความเสี่ยงสูงมากจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศอินเดียได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดปัญหาการข่มขืนภายในประเทศให้มีโทษสูงสุด คือ การประหารชีวิต โดยผ่านกฎหมายฉบับใหม่ในปีที่ผ่านมา แต่ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศในอินเดีย กลับไม่ใช่ปัจจัยด้านกฎหมาย แต่เป็นปัจจัยด้านการดำเนินงานของภาครัฐ และทัศนคติของคนในสังคมต่อเรื่องเพศ

ปัจจัยด้านการดำเนินงานของภาครัฐ

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้กระทำผิดไม่ได้รับบทลงโทษ และทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศอย่างแพร่หลายในอินเดีย คือ ความไร้ประสิทธิภาพในการดำเนินคดีของหน่วยงานภาครัฐ เหตุเพราะหลายต่อหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การไม่รับแจ้งความจากเหยื่อผู้ถูกกระทำชำเรา เป็นต้น การดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดี หรือการพิจารณาคดีในชั้นศาลที่กินเวลายาวนานเกินไป เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากคดีข่มขืนกว่า 600 คดีในกรุงนิวเดลีในปี ค.ศ. 2555 ที่ผ่านมา พบว่า มีเพียง 1 คดีเท่านั้นที่ได้รับการพิพากษาจากศาล ดังนั้นเมื่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทราบถึงความจริงที่ว่า ความยุติธรรมที่พวกเขาต้องการได้รับนั้นมีแนวโน้มที่จะได้มาอย่างยากลำบาก เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้อาจตัดสินใจไม่แจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งหากเหยื่อเหล่านี้เลือกที่จะนิ่งเฉย เหตุการณ์อันเลวทรามเหล่านี้อาจเกิดขึ้นมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และส่งผลผู้กระทำความผิดไม่มีความเกรงกลัวต่อบทลงโทษทางกฎหมาย

ปัจจัยด้านวัฒนธรรมและค่านิยมต่อเรื่องเพศ

การล่วงละเมิดทางเพศในสังคมอินเดียถูกมองเป็นเรื่องปกติมากขึ้น จากความพยายามใช้คำที่มีความหมายแง่บวก เพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นเรื่องทั่วไปในสังคม เช่น คำว่า "การหยอกเย้าของอีฟ" (eve- teasing) ซึ่งโดยความหมายของคำว่า "อีฟ" ในบริบทนี้ หมายถึงเพศหญิง และความหมายของคำว่า "ทีซซิ่ง" (Teasing) หมายถึง การหยอกเย้า เมื่อนำความหมายของ 2 คำนี้มารวมกันจะได้ความหมายที่แตกต่างไปจากเดิม นั่นคือ ความเย้ายวนทางเพศของสตรีที่กระทำให้ผู้ชายเกิดอารมณ์ทางเพศ ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากความหมายเดิม ที่หมายถึง รูปแบบการล่วงละเมิดทางเพศของเพศชาย อาทิ การแตะต้องสตรีในที่สาธารณะ การพูดจาล้อเลียน พูดจาบจ้วง หรือการคุกคามทางเพศ เป็นต้น

นอกจากการนิยามคำศัพท์เพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม วัฒนธรรมการล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรียังถูกปลูกฝังผ่านรูปแบบของสื่อละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาพยนตร์บอลลีวู้ด (Bollywood) ซึ่งถึงแม้จะพยายามลดฉากจูบและไม่อนุญาตให้มีฉากโป๊เปลือยในภาพยนตร์ แต่ฉากข่มขืนกระทำชำเราถือได้ว่าเป็นฉากที่ถูกผลิตซ้ำมาหลายต่อหลายทศวรรษ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากเนื้อเรื่องในภาพยนตร์อินเดียหลายต่อหลายเรื่อง ภายหลังจากที่นักแสดงหญิงถูกข่มขืน พวกเขามีทางเลือกเพียง 2 ทางเท่านั้นในการตัดสินใจ คือ หนึ่ง แต่งงานกับผู้ชายที่ข่มขืนเธอเพื่อรักษาเกียรติยศของครอบครัว หรือ สอง ฆ่าตัวตาย ซึ่งเนื้อหาในภาพยนตร์นั้นไม่แตกต่างจากค่านิยมของคนในสังคมอินเดียที่คิดว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำชำเราคือผู้หญิงที่มีรอยด่างพร้อย และไม่สมควรที่ชายใดจะแต่งงานด้วย ดังนั้นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงเหล่านี้ คือ การแต่งงานกับชายที่ข่มขืนเธอเพื่อรักษาชื่อเสียงของวงตระกูล ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ต่างจากตำรวจภายในประเทศอินเดียที่หลายครั้งไม่รับแจ้งความดำเนินคดี แต่กลับสนับสนุนให้เหยื่อแต่งงานกับชายผู้ข่มขืนเธอเพื่อรักษาชื่อเสียงของเธอ

ดังนั้น หากชายใดในสังคมอินเดียต้องการผู้หญิงที่ตนรักมาเป็นภรรยา หนึ่งในวิธีที่จะทำให้ฝ่ายหญิงตกเป็นของตนคือการยัดเหยียดความด่างพร้อยให้แก่เธอผ่านความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในสังคมอินเดีย นั่นคือ การข่มขืนกระทำชำเรา

วัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการล่วงละเมิดทางเพศในสตรีมีอยู่อย่างมากมายในสังคมอินเดีย เป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้การข่มขืนสตรียังคงดำรงมาถึงทุกวันนี้ และทำให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย

สรุปและบทเรียนสำหรับประเทศไทย

ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรีเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานของหน่วยงานภาครัฐและการบังคับใช้กฎหมายที่ควรมีประสิทธิภาพ และสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างแท้จริง อีกทั้งปัญหาเชิงวัฒนธรรมที่ควรแก้ไขผ่านระบบการศึกษา การปฏิรูปเนื้อหาสื่อโทรทัศน์ และภาพยนตร์ที่ต้องเปลี่ยนทัศนคติทางเพศของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิงให้ถูกต้อง ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ และส่งเสริมให้ผู้ชายตระหนักถึงปัญหาและผลเสียที่เกิดจากการล่วงละเมิดทางเพศที่มากยิ่งขึ้น เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในสังคม

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสตรีเกิดขึ้นอย่างมากมาย จากสถิติในปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา มีผู้หญิงในประเทศไทยกว่า 31,000 คนถูกข่มขืนกระทำชำเรา และมีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้บริบทในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับประเทศอินเดียบางประการ คือ วัฒนธรรมการล่วงละเมิดทางเพศในสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาของละครโทรทัศน์หลายเรื่องที่เปรียบการข่มขืนกระทำชำเราในสตรีเสมือนสัญลักษณ์ของความรักที่พระเอกมีต่อนางเอก เช่นเดียวกับการดำเนินคดีของหน่วยงานภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพและใช้เวลาในการนำคนผิดมาลงโทษ

กรณีตัวอย่างของประเทศอินเดียจึงเป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับประเทศไทยว่าถึงเวลาที่เราควรเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเหล่านี้ให้มีความเป็นมิตรต่อสตรีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสื่อให้ปลอดจากเนื้อหาที่สะท้อนค่านิยมทางเพศที่ไม่ถูกต้องหรือฉากการข่มขืน ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมควรได้รับการปฏิรูปให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้ดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศผ่านระบบการศึกษา


ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-5jtGejAavSo/UMf80rCk1kI/AAAAAAAACsI/doOuz_YbuSI/s1600/555000015662601.JPEG