สุนทรพจน์ประธานาธิบดีวิสัยทัศน์อเมริกา


แหล่งที่มาของภาพ : http://leadershipfreak.files.wordpress.com/2010/01/vision-and-criticism.jpg

ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาได้จารึกแล้วว่านายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกได้กล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งถึงสองครั้ง แสดงถึงการที่พลเมืองอเมริกันส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าเขาประสบความสำเร็จในการบริหารชาติมหาอำนาจแห่งนี้

 การขับเคลื่อนพลเมือง 300 ล้านคนอันประกอบด้วยหลากหลายเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรม มีเสรีภาพในการพูดการแสดงออก มีความคิดเห็นอย่างหลากหลายเป็นเรื่องน่าสนใจ จากการศึกษาสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งทั้งสองครั้งพบว่ามีข้อคิดที่น่าสนใจดังนี้

ประการแรก ขับเคลื่อนพลเมืองด้วยอุดมการณ์ ค่านิยม

ข้อสังเกตที่ชัดเจนมากที่สุดประการหนึ่งคือ ตลอดสุนทรพจน์ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งตอนจบ ประธานาธิบดีบารัก โอบามาพูดถึงอุดมการณ์ ค่านิยมของอเมริกาตลอดเวลาซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง กล่าวถึง เสรีภาพ ความเสมอภาค โอกาสอันเท่าเทียม ประชาชนทุกคนที่จะอยู่อย่างปลอดภัย ได้รับความยุติธรรมอย่างทั่วถึง ดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

เป้าหมายการป้องกันประเทศจากภัยคุกคามต่างชาติ ไม่ใช่เพียงการปกป้องชีวิตทรัพย์สินของประชาชน แต่ให้ความสำคัญกับการพิทักษ์รักษาอุดมการณ์ ค่านิยมประเทศ พร้อมกับถ่ายทอดสิ่งดีเหล่านี้แก่ประเทศอื่นๆ มวลมนุษย์ทั่วโลก บุคคลผู้มีหน้าที่สำคัญที่สุดในการปกป้องอุดมการณ์ประเทศคือประชาชนทุกคน รวมถึงประธานาธิบดีซึ่งมีสองฐานะคือ ในฐานะผู้นำประเทศกับฐานะที่เป็นคนอเมริกันคนหนึ่งด้วย ดังบรรพบุรุษอเมริกันจำนวนมากได้เสียสละเพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้และส่งทอดให้คนรุ่นหลัง

สหรัฐอเมริกาคือ ประเทศที่มีอุดมการณ์ ยึดถือค่านิยมของตน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงตัวบทกฎหมายหรือหลักการดีๆ แต่มุ่งให้ชาวอเมริกันทุกคนยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจัง ทุกคนดำเนินชีวิตตามอุดมการณ์

ประการที่สอง ส่งเสริมให้ทุกคนทำงานหนัก เพื่อร่วมสร้างพหุสังคมที่มีเอกภาพ

ตลอดเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก โอบามาเน้นการแก้ปัญหาคนว่างงานเพราะเห็นว่าการมีงานทำคือเสาหลักของเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกับคนอเมริกันจำนวนมากที่เรียกร้องของานทำเพื่อใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีแม้ประเทศมีสวัสดิการดูแลผู้ว่างงาน ปัญหาคนว่างงานมีความสำคัญถึงขั้นเป็นหนึ่งในตัวตัดสินว่าประธานาธิบดีควรสอบได้หรือสอบตก

สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโอบามากล่าวอย่างชัดเจนว่าจะส่งเสริมให้คนมีงานทำ มีความภาคภูมิใจในงานที่รับผิดชอบ ตระหนักว่าสังคมที่เข้มแข็งเกิดจากการที่ทุกคนเข้มแข็ง แล้วใช้เสรีภาพของตนเพื่อร่วมกันสร้างชาติสร้างประเทศอย่างมีเอกภาพ

สังคมที่เข้มแข็งประกอบจากประชาชนที่เข้มแข็ง สังคมที่เข้มแข็งไม่ได้หมายความว่าคนคิดต่างไม่ได้ แต่ใช้เสรีภาพ ใช้ศักยภาพ ความคิดเห็นอันหลากหลายมาร่วมสร้างชาติให้เข้มแข็ง

ประการที่สาม ตอกย้ำเป้าหมายสหรัฐอเมริกาคือเป็นประเทศทรงอำนาจมากที่สุดในโลก

เช่นเดียวกับสุนทรพจน์เมื่อสี่ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวถึงประเทศสหรัฐฯ "ผู้ทรงอำนาจมากที่สุด" ไม่ต่างจากประธานาธิบดีคนก่อนๆ อีกหลายคนที่กล่าวเหมือนๆ กันในเรื่องนี้ พวกเขาพร้อมกับชาวอเมริกันจำนวนมากพูดถึงสิ่งนี้ด้วยความภาคภูมิใจ

ในบริบทโลก การที่สหรัฐฯ เป็นชาติมหาอำนาจมีทั้งประเทศที่เห็นด้วยกับประเทศที่ไม่เห็นด้วย มีคนจำนวนมากจากหลากหลายประเทศที่ต่อต้าน เฉกเช่นเดียวกับที่ชาวอเมริกันบางคนไม่เห็นด้วยเช่นกันโดยเฉพาะการใช้อำนาจในทางที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

ในภาพรวม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เมื่อสหรัฐฯ ประกาศเปลี่ยนนโยบายแม่บทจากการอยู่โดดเดี่ยวแยกตัวออกมา (Isolationism) มาเป็นนโยบายเข้าเกี่ยวพันกับโลก (Engagement) สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศอภิมหาอำนาจ และได้ส่งผ่านอำนาจ อิทธิพล ระบอบการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ค่านิยม วัฒนธรรมของสหรัฐฯ แผ่กระจายทั่วโลก ดังที่ จอร์ช ฟรีดแมน (George Friedman) เขียนไว้ในหนังสือ

"The Next Decade" ที่ผมแปลมาเป็นภาษาไทยว่า "ทศวรรษหน้า" ที่กล่าวว่าสหรัฐฯ เป็นจักรวรรดิโดยไม่ได้ตั้งใจแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตลอดเวลาภายใต้นโยบายแม่บทการเป็นมหาอำนาจนี้ สหรัฐฯ ต้องจ่ายราคาและฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการแต่ประวัติศาสตร์ย้อนหลัง 8ทศวรรษพิสูจน์ว่าสหรัฐฯ ยังสามารถรักษาความเป็นมหาอำนาจของตนไว้ได้

ข้อคิดสำคัญคือ เมื่อรัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทางดังกล่าว ได้ประกาศให้ประชาชนรับทราบอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา เป็นเป้าหมายร่วมกันของคนทั้งประเทศ (ส่วนใหญ่) และอเมริกาจะรักษาไว้จนถึงที่สุด

ประการที่สี่ ตระหนักว่าบริบทโลกกำลังเปลี่ยนแปลง อเมริกาต้องไม่หยุดอยู่กับที่

บริบทโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ก่อเกิดความท้าทายใหม่ จำต้องเรียนรู้ เข้าใจบริบท แสวงหาแนวคิดใหม่ เทคโนโลยีใหม่เพื่อรับมือ และประเทศเป็นผู้นำที่กล้าเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม สหรัฐฯ จำต้องเปลี่ยนแปลงด้วย เช่น การใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่ยั่งยืน อเมริกากำลังเป็นพหุสังคมมากขึ้น มีชาวต่างชาติย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยในประเทศ อเมริกาจะไม่ปฏิเสธต้อนรับคนเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

ประธานาธิบดีโอบามายังย้ำเตือนอีกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นยากลำบากและกินเวลา ชาวอเมริกันจะไม่ย่อท้อ

ประการที่ห้า ตระหนักว่าประเทศยังไม่สมบูรณ์ดีพร้อม ยังต้องพัฒนาปรับปรุงต่อไป

สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งแต่ละครั้งคือการประกาศวิสัยทัศน์ ประกาศอุดมการณ์ของประเทศ และเป็นการส่งผ่านสิ่งเหล่านี้จากรุ่นสู่รุ่น พร้อมกับยอมรับว่าประเทศยังไม่บรรลุถึงจุดสมบูรณ์ดีพร้อม ยังต้องพัฒนาปรับปรุงต่อไป เช่น ชายหญิงต้องมีรายได้เท่าเทียม เด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในถิ่นคนมีฐานะหรือผู้มีรายได้น้อยจะต้องอยู่อย่างปลอดภัย

ในตอนสุดท้าย ประธานาธิบดีโอบามาย้ำว่าขอให้ชาวอเมริกันทุกคน "ลงมือทำทันที" ทำอย่างต่อเนื่อง ข้อคิดดีๆ ทั้งห้าประการคือส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ ยังมีข้อคิดดีๆ อีกมากที่อัดแน่นในสุนทรพจน์ทั้งสองครั้ง อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งสุนทรพจน์เหล่านี้ย่อมเน้นการพูดแง่บวกเป็นหลัก เป็นวิสัยทัศน์ที่กล่าวซ้ำๆ โดยที่หลายอย่างยังไม่บรรลุเป้าหมาย ประเทศสหรัฐฯ ยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงอีกมาก เช่น ความไม่เท่าเทียมของคนผิวสี ชนกลุ่มน้อย ชาวอเมริกันหลายคนมีพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว หลายคนเป็นวัตถุนิยม เรื่องยาเสพติดเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคม รวมถึงการแตกแยกทางการเมืองระหว่างสองพรรคในขณะนี้ ไม่นับรวมปัญหาระหว่างประเทศและปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ดังที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวว่าประเทศยังไม่สมบูรณ์ดีพร้อม ยังอยู่ระหว่างการเดินทางไกล จึงเรียกร้องให้ประชาชนอเมริกันได้ร่วมเดินทางกับเขา และกล่าวในตอนท้ายว่า ประธานาธิบดีทุกคนกล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งในทำนองเดียวกัน เป็นคำสาบานต่อพระเจ้า ต่อประเทศ ไม่ใช่ต่อพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆ ที่จะบริหารประเทศอย่างสัตย์ซื่อตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง ถ้อยคำสุดท้ายนี้คือการตอกย้ำหน้าที่ของตนราวกับตอกย้ำว่าพลเมืองอเมริกันคนอื่นๆ ต้องทำหน้าที่ของตน

เนื้อหาที่ปรากฏในสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นประโยชน์ มีคุณค่าไม่เพียงเพื่อการศึกษา ควรนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองใด เป็นสังคมชาวตะวันตกหรือชาวตะวันออก เพราะอย่างน้อยนี่คือชาติอภิมหาอำนาจผู้เขียนประวัติศาสตร์ ผู้กำหนดวาระโลก

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com