คิดให้ครบ มองให้รอบด้าน: บริหารจัดการน้ำ


แหล่งที่มาของภาพ : http://totallycoolpix.com/wp-content/uploads/2011/12012011_australia_floods/floods_25.jpg

จากการที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้รัฐบาลเพิกถอนแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบ แต่ละแผนงาน ในแต่ละโมดูล ทำให้ประเด็นเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ อาทิ กรณีบริษัทผู้ประมูลงานได้ (K-Water) มีหนี้ล้นพ้นตัว ความเสี่ยงด้านการทุจริต เป็นต้น

ในประเด็นเหล่านี้ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ประเด็นเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ แต่หากพิจารณาในมุมที่กว้างขึ้นว่า โครงการนี้จะสามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้จริงหรือไม่ รวมถึงโครงการเหล่านี้ มีความครบถ้วน รอบด้านในการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดหรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมต้องร่วมกันพิจารณา อาทิ

1) โครงการเน้นการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำท่วมเป็นสำคัญ

งบประมาณในการลงทุนด้านการจัดการน้ำท่วมประมาณ 2.2 แสนล้านบาท หรือ 70% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด เน้นไปที่แก้มลิง, Flood way, แนวป้องกันน้ำท่วม,การปรับปรุงเส้นทางน้ำ ตลิ่ง แม้เข้าใจได้ว่า นี่เป็นโครงการเร่งด่วนเฉพาะการจัดการน้ำท่วม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา และโครงการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ยังไม่ครอบคลุมในความเป็นจริง เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำ มีมากกว่าการจัดการน้ำท่วม 

ปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำ มีทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง รวมทั้งน้ำเสียด้วย โครงการนี้ยังไม่ได้บูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาน้ำในหลาย ๆ มิติ เช่น ในการแก้ปัญหาน้ำแล้ง ควรให้ความสำคัญกับการกักเก็บน้ำไว้ใช้มากขึ้น หรือการผันน้ำที่มากเกินไปไปสู่พื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ ตัวอย่าง Module A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กรวมความจุ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้งบ 5 หมื่นล้านบาท แต่หากนำโครงการแก่งเสือเต้นมาพิจารณา เพราะแก่งเสือเต้นมีความจุประมาณ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณเพียง 1.3 หมื่นล้านบาท

2) โครงการเน้นการลงทุนด้านการป้องกันน้ำท่วมเป็นสำคัญ

การจัดการน้ำท่วมมีทั้งก่อน ระหว่าง และหลังน้ำท่วม  โครงการนี้เน้นเรื่องก่อนจะเกิดน้ำท่วม เช่น ระบบป้องกันต่างๆ แต่ไม่มีการจัดระบบการจัดการเมื่อเกิดน้ำท่วมแล้ว เช่น การอพยพ การลำเลียงสิ่งของ ที่พักพึง การอบรมความรู้แก่ประชาชน การระดมสรรพกำลัง เป็นต้น และไม่มีการวางระบบสำหรับการฟื้นฟู การชดเชยผู้ได้รับความเสียหาย รวมถึงการป้องกันน้ำท่วมก็ยังป้องกันไม่ครบถ้วน  เพราะเน้นเฉพาะป้องกันน้ำหลาก  ทั้งยังมีความเสี่ยงจากน้ำฝน และน้ำทะเลหนุน รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ มีปัญหา เช่น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์กรมอุตุที่ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากตกรุ่นไม่มีอะไหล่เพื่อซ่อมแซม ทำให้การพยากรณ์ไม่แม่นยำ  พยากรณ์ล่วงหน้านานๆ ไม่ได้ รวมถึงการพยากรณ์ลงลึกในระดับตำบลไม่ได้  หรือในกรณีน้ำทะเลหนุน, storm surge ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง

3) โครงการเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ

โครงการเน้นการลงทุนด้านกายภาพหรือเป็นการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ (hardware) เท่านั้น  แต่ยังไม่เห็นว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านอื่นๆ เช่น

ด้านซอฟแวร์ (Software) คือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการยังไม่ชัดเจน หากจำกันได้ ปัญหาสำคัญของการรับมือกับน้ำท่วม คือ การบริหารจัดการ  เช่น มหาอุทกภัยในปี 2554 (ภายใต้การบริหารของรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย) หรือน้ำท่วมภาคใต้ปลายปี 2553 (ภายใต้การบริหารของรัฐบาลภายใต้การนำของประชาธิปัตย์) โดยเฉพาะการขาดการประสานงานกัน การต่างคนต่างทำ การส่งสัญญาณผิดพลาด การขาดความน่าเชื่อถือ (เอาอยู่) ปัญหาการจัดการความขัดแย้งของประชาชน การเตือนภัย และให้ความช่วยเหลือล่าช้า และการทำงานที่ไม่เป็นระบบ ไม่ทั่วถึง

การพัฒนาบุคลากรและสร้างความรู้ของสังคมไทยเกี่ยวกับการจัดการน้ำ (Peopleware) โครงการลงทุน 3 แสนล้านนี้ ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจากฐานอะไร ไม่มีการประชาพิจารณ์ ไม่ได้ทำการศึกษาผลกระทบ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 ทำให้รู้ว่า ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้น้อยมาก สามารถนับนิ้วได้ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่พูดเรื่องน้ำแล้วประชาชนเชื่อถือมีไม่กี่คน เช่น  อ.เสรี ศุภราทิตย์ ,อ.รอยล จิตรดอน

จากประเด็นเหล่านี้ ผมเห็นด้วย ที่จะให้ประชาชนในทุก ๆ ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนในการบริหารจัดการน้ำ เพราะเรื่องน้ำเป็นเรื่องใกล้ตัว ประชาชนทุกคนได้รับผลกระทบ ไม่มากก็น้อย ไม่ควรให้การจัดการน้ำ เน้นแค่ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ควรเน้นการแก้ปัญหาทั้งระบบในระยะยาว หากประเทศไทย แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย ฯลฯ ได้ จะเป็นคานงัดหนึ่งในการพัฒนาประเทศได้

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com