Happy Workplace Forum 3.1 มองไกลถึงอนาคต...เน้นสร้างสุขทุกสถานการณ์


ไทยโพสต์
คอลัมน์ : HAPPY MODEL

เดินทางมาไกลกว่าครึ่งทศวรรษ สำหรับเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลองค์กรสุขภาวะที่คุ้นหูกันดีในชื่อ แฮปปี้ เวิร์กเพลส (Happy Workplace) โดยในปีนี้มากับธีมและแนวคิดใหม่ด้วยการมองไกลไปสู่อนาคต "Happy Workplace Forum 3.1 ความสุขทุกสถานการณ์" ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกับภาคีความร่วมมือด้านการสร้างองค์กรแห่งความสุขทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดงานสัมมนาวิชาการขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้บริหาร นักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนตบเท้าเข้าร่วมกว่า 1,000 คน ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ที่ต้องมองการณ์ไกลไม่หยุดอยู่ที่แค่การประกาศความสำเร็จขององค์กรเหมือนเมื่อก่อนเป็นเพราะส่วนมากคนมักพูดถึงแต่ปัจจุบัน แต่ไม่เคยวางแผนไปถึงอนาคต ที่ทรัพยากรบุคคลจะกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ส่งผลให้ระบบ HR เป็นเรื่องที่ต้องดูแลอย่างจริงจังนับต่อจากนี้ และทำให้แฮปปี้เวิร์กเพลสซึมเข้าไปในเนื้องานในแบบไม่ว่าจะทำงานอะไรก็มีความสุขได้ เพื่อให้พัฒนาองค์กรเป็นไปได้อย่างยั่งยืน ในภาวะที่มีการเปลี่ยนผ่านการบริหารงานในองค์กรอย่างน่าตกใจ ไม่ใช่เน้นแค่เรื่องสุขภาพดีมีความสุขอย่างที่แล้วมา นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่ผลักดันเรื่องแฮปปี้ เวิร์กเพลสมาถึง 10 ปี อธิบายให้ทราบโดยทั่วกัน


"ปีนี้เราไม่จัดงานใหญ่โตอลังการแล้วไม่ได้อะไรกลับไป ทว่า เน้นความเรียบง่ายในลักษณะแชร์แอนเลิร์น ให้คนที่ประสบความสำเร็จจริงมาเผยแพร่องค์ความรู้ของเขาไว้เป็นแนวทางให้องคืกรที่สนใจ และขอยืนยันว่าเรามาถูกทางแล้วกับเรื่องนี้ ซึ่งผลสำเร็จที่มากขึ้นในทุกปีตอกย้ำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ และไทยอาจกลายเป็นฮับเรื่องแฮปปี้ เวิร์กเพลส ของเออีซี ของเอเชียหรือของโลก เพราะปลายปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็สนใจจนส่งคนมาศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อนำไปปรับให้เข้าวัฒนธรรมของเขา หวังสร้างความสุขให้คนทำงาน" ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กรกล่าว

ส่วนเหตุที่ต้องมองเลยไปถึงอนาคตนั้น เมื่อได้ฟังเหตุผลจาก ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ที่บอกไว้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า หรือประมาณ พ.ศ. 2575 สถานที่ทำงานของประเทศไทย มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอยู่ 7 ประการ ได้แก่ 1. คุณสมบัติและลักษณะของคนทำงาน จะขาดแคลนแรงงานฝีมือเนื่องจากประชากรนิยมอยู่เป็นโสดหรือไม่มีบุตรมากขึ้น 2. ลักษณะงาน จะเกิดงานใหม่จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่นการผลิตชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์ ศัลยแพทย์เพิ่มหน่วยความจำ 3. ผลตอบแทน จะมาจากผลงานเป็นหลัก สวัสดิการแรงงานสูงอายุและหลังเกษียณจะเป็นแรงกดดันที่สำคัญ 4.โครงสร้างองค์กร จะปรับระบบบริหารและกฎระเบียบรองรับแรงงานที่หลากหลาย 5.ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคลากรจะกลายเป็นประเด็นสำคัญ 6.สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สำนักงานแบบตายตัวจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและ 7.วัฒนธรรมองค์กรจะเกิดการยอมรับความแตกต่าง เกิดค่านิยมการทำงานไปพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวัน และทำงานตลอดเวลาผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร

"องค์กรต่างๆ ควรทำความเข้าใจ วิเคราะห์และวางแผนรองรับทั้งโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็งไม่ว่าสถานการณ์ใด คือการส่งเสริมให้บุคลากรทำงานอย่างมีความสุข" ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ระบุเพิ่ม

อย่างไรก็ดี ดร.เกรียงศักดิ์ เห็นสอดคล้องกับการผลักดันให้มีแฮปปี้ เวิร์กเพลสในประเทศไทยและควรมีตัวชี้ความสุขคนทำงานอย่างมีมาตรฐานด้วย โดยเจ้าตัวบอกว่า ต่อไปความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจอาจไม่ใช่แค่ตัวเลขอีกต่อไป แต่หมายรวมถึงว่าการลงทุนนั้นๆ มีคุณค่าของสิ่งที่ทำกลับมาหรือไม่ ต้องวัดได้ว่าคุณค่าต่อคนทำงานต่อนายจ้าง ต่อสังคม ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครคิดทำ ถ้าประเทศไทยทำได้ก็คงดีและคงเป็นประเทศแรกในโลกที่มีอะไรแบบนี้

"ขณะนี้เราคิดคอนเซ็ปต์กันอยู่ คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี คงได้โมเดลเบื้องต้นที่นำเอาหลักแฮปปี้ เวิร์กเพลสที่มีอยู่มาต่อยอด ซึ่งก็แล้วแต่ด้วยว่า สสส.จะผลักดันเรื่องนี้ขนาดไหน แต่ทำช้ากว่านี้ไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์องค์กรของไทยในเรื่องบริหารจัดการ ณ ปัจจุบันอยู่ในขั้นล้าหลัง ตกรุ่นเพราะตามฝรั่งมากเกินไป ขณะเดียวกันฝรั่งก็คิดแบบตกรุ่น ใช้กรอบความคิดเดิม ทำแบบเดิม ไม่ได้มองถึงอนาคต แถมยังเป็นสังคมที่นิยมก๊อปปี้ เอาตัวรอดเฉพาะหน้า ทั้งที่ความจริงเราต้องเตรียมตัวเพื่อดักปัญหาข้างหน้าแล้ว ซึ่งใครทำได้ก่อนคนนั้นก็ได้เปรียบในเวทีโลกครับ" ดร.เกรียงศักดิ์ แจงเพิ่ม

ขณะที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวเสริมว่า แฮปปี้ เวิร์กเพลส เป็นความสำเร็จที่เราจะทำต่อไป เพราะมี 4,000 องค์กรในประเทศที่นำ 5 เครื่องมือสร้างสุข ได้แก่ 1.Happy Model ต้นแบบจำลององค์กรสุขภาวะ 2.Happy Workplace Index เครื่องมือวัดสุขภาวะระดับองค์กร 3.Happinometer เครื่องมือวัดสุขภาวะระดับบุคคล 4.Happy Workplace ROI เครื่องมือวัดผลตอบแทนทางธุรกิจ และ 5.Happy 8 Menu กล่องแห่งความสุข 8 ประการ บวกด้วยเครื่องมือใหม่ล่าสุด "HeHa" สร้างสุขทุกสถานการณ์ ไปใช้เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

"แนวทางการดำเนินสู่องค์กรแห่งความสุขและนวัตกรรมแห่งความสุข จะทำให้องค์กรทุกประเภทไม่ว่ารัฐหรือเอกชนอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญสถานการณ์ใดในอนาคตก็ตาม" ทพ.กฤษดา กล่าว

บรรยายใต้ภาพ

ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส.
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา

ผู้คนสนใจเข้าร่วมรับฟังและร่วมสนุกกับกิจกรรม "Happy Workplace Forum 3.1 ความสุขทุกสถานการณ์" อย่างล้นหลาม