ปัจจัยที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีศักยภาพทางภาษาอังกฤษ

รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมการส่งออกแรงงาน (Labor Export Policy) เพื่อลดปัญหาการว่างงานภายในประเทศ ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผ่านรายได้ที่เป็นเงินโอนเข้าจาก

แรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 20.117 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในปี ค.ศ. 2011 หรือคิดเป็น 13.5 % ของ GDP ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้แรงงานฟิลิปปินส์เป็นที่ต้องการและมีความได้เปรียบกว่าแรงงานชาติอื่นในตลาดแรงงานทั่วโลก คือ ทักษะทางภาษาอังกฤษ โดยจากสถิติการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารของประชากรชาวฟิลิปปินส์ คิดเป็นร้อยละ 55.49 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจเป็นรองเพียงแค่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น ผมวิเคราะห์ว่า มีปัจจัยอย่างน้อยสำคัญ 3 ประการ ที่ทำให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์มีศักยภาพในการใช้ภาษาอังกฤษ จนสามารถเป็นแรงงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลกได้


เหตุประการแรกมาจากแรงบีบคั้นด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือ หนึ่งในปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศฟิลิปปินส์ คือ ปัญหาการว่างงาน และค่าจ้างแรงงานที่ต่ำเมื่อเทียบกับ ค่าจ้างแรงงานในประเทศอื่น ๆ จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ถูกบีบให้ต้องแสวงหาหนทางการจ้างงานภายนอกประเทศที่มีค่าตอบแทนดีกว่า โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสทางอาชีพในตลาดแรงงานโลกเมื่อออกไปทำงานในต่างประเทศคือ ความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ นอกจากพื้นฐานทางภาษาที่ดีจากระบบการศึกษาภายในประเทศ ซึ่งช่วยทำให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์มีทักษะทางภาษาอังกฤษที่ดีในระดับเทียบเท่ากับประชาชนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่แล้ว ประชาชนฟิลิปปินส์ยังเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองโดยการเรียนวิชาชีพที่ช่วยให้เขาสามารถทำงานที่ใช้ความชำนาญมากกว่าการเพียงขายแรงงานในต่างประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วิชาชีพครู ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในประเทศไทย ซึ่ง ณ ปัจจุบัน นอกจาก ครูต่างชาติสัญชาติตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่แล้ว ในโรงเรียน 2 ภาษา (bilingual school) หรือ โรงเรียนนานาชาติ (international school) หรือแม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัยในหลักสูตรนานาชาติบางแห่ง ยังว่าจ้างครูชาวฟิลิปปินส์มาสอน ทั้งในตำแหน่งครูผู้ช่วย ครูประจำชั้น ครูประจำวิชาต่างๆ ด้วย

เหตุปัจจัยต่อมาคือ มิติด้านประวัติศาสตร์และสังคม กล่าวคือ กว่า 5 ทศวรรษที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมของประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ได้รับเอาระบบการปกครองและระบบการศึกษาของสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ รวมทั้งเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางราชการอย่างเป็นธรรมชาติ แม้ว่าในปัจจุบัน สหรัฐฯ จะไม่ได้มีบทบาททางการศึกษาเหมือนอย่างในอดีต แต่ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ก็สามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านทางสื่ออเมริกันที่เป็นที่นิยม รวมทั้งอิทธิพลด้านวัฒนธรรมอเมริกันที่ยังหลงเหลืออยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน นอกจากนั้น สาเหตุที่ชาวฟิลิปปินส์เรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ดีเนื่องจาก ภาษาอังกฤษไม่ได้ถือเป็นภาษาต่างประเทศ แต่เป็นภาษาที่ 2 ที่คนในประเทศใช้กันอย่างเป็นปกติ และในบางพื้นที่ของประเทศนั้น ภาษาอังกฤษกลับได้รับความนิยมยิ่งกว่าภาษาอื่น ๆ ของท้องถิ่นอีกด้วย

สืบเนื่องจากการที่ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นภาษาที่ 2 (หรือภาษาแรกสำหรับในบางครอบครัว) การเรียนรู้ภาษาอังกฤษจึงเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้านอย่างเป็นธรรมชาติ โดยพ่อแม่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ เพราะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับลูกตั้งแต่เล็กๆ ทำให้เมื่อโตขึ้น เด็กเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกแปลกแยกกับภาษาอังกฤษ และใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติในวิถีชีวิตปกติประจำวัน

นอกจากนี้แล้ว เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีสภาพเป็นหมู่เกาะ มีชนพื้นเมืองนับร้อยชาติพันธุ์ ทำให้มีภาษาที่ใช้ในประเทศฟิลิปปินส์มีมากกว่า 170 ภาษาถิ่นทั่วประเทศ จึงทำให้ต้องมีภาษาหลักในการสื่อสารภายในประเทศ นั้นคือ ภาษาฟิลิปิโน (Filipino) และภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นภาษาทางการ เพราะฉะนั้นเหตุที่ฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฟิลิปิโนเป็นภาษาทางราชการ ทำให้ประชาชนในประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นตามไปด้วย

ประการสุดท้ายคือ นโยบายทางการศึกษาของภาครัฐ ตามรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ ปี ค.ศ.1987 ระบุไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนภายในสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศว่า ภาษาทางการที่ใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน คือ ภาษาฟิลิปิโน และภาษาอังกฤษ กระทรวงศึกษาธิการของประเทศฟิลิปปินส์จึงได้ดำเนินนโยบายทางภาษานี้ โดยให้ใช้ภาษาทั้ง 2 ในวิชาที่แตกต่างกันในการเรียนการสอน โดยภาษาฟิลิปิโนถูกใช้ในวิชาสังคมศึกษา ดนตรี ศิลปะ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ส่วนภาษาอังกฤษถูกใช้ในวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยวัตถุประสงค์ของนโยบายการศึกษาในระบบ 2 ภาษาก็เพื่อต้องการให้ใช้ภาษาฟิลิปิโนเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ความเป็นชาติของประเทศฟิลิปปินส์ และใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเป็นภาษาในการสื่อสารระหว่างประเทศ และอนาคตในการแข่งขันกับต่างประเทศ และการที่กระทรวงศึกษาธิการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนตั้งแต่เด็กจนถึงมหาวิทยาลัยได้สร้างค่านิยมที่ว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ง่ายและเรียนรู้ได้ตั้งแต่วัยเด็กในประชาชนชาวฟิลิปปินส์

นอกจากหลักสูตรการเรียนแบบ 2 ภาษา ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่เอื้อให้เด็กในโรงเรียนฝึกฝนทักษะทางภาษามากขึ้น อาทิ นโยบาย English Only ซึ่งเป็นนโยบายที่บังคับมิให้เด็กในโรงเรียนพูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ หากนักเรียนคนใดฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงินเพื่อไปพัฒนาปรับปรุงโรงเรียนต่อไป ซึ่งเป็นนโยบายทางการศึกษาที่ปฏิบัติได้จริง

กล่าวโดยสรุป ปัจจัยสำคัญที่เป็นพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์มีทักษะความสามารถทางภาษาอังกฤษนั้นคือระบบการศึกษาแบบ 2 ภาษา อิทธิพลและค่านิยมอเมริกันที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์มีศักยภาพทางภาษาอังกฤษ ถึงแม้ฟิลิปปินส์ในอดีตเคยเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา แต่มรดกที่ดีที่ฟิลิปปินส์ได้รับจากสหรัฐฯ คือ ระบบการศึกษาแบบอเมริกัน ที่ถือเป็นระบบการศึกษาที่ทำให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์มีศักยภาพทางภาษาอังกฤษ

เมื่อมองย้อนกลับมาดูประเทศไทยแล้ว ตามสถิติแล้วประชากรไทยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเพียงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และเป็นที่น่าห่วงยิ่งขึ้น เมื่อเทียบคะแนน TOEFL ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ปรากฏว่าได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 500 คะแนน ซึ่งต่ำกว่า พม่า กัมพูชา และ เวียดนาม ถือว่าอยู่ในอันดับที่ต่ำมาก

ทางออกสำหรับปัญหานี้จึงต้องกลับมาแก้ไขที่ระบบการศึกษาก่อน ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนที่สอนด้วยหลักสูตร 2 ภาษาอยู่บ้าง แต่ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับโรงเรียนทั่วประเทศ อีกทั้ง ณ ปัจจุบัน หลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสอนให้นักเรียนสามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษได้ โดยทั่วไปในการเรียนภาษาต่างประเทศ ทักษะที่จำเป็นในการเรียนภาษา คือ ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งการศึกษาในประเทศไทยเน้นการเรียนเพียง 2 ทักษะนั้นคือ ทักษะการอ่าน และการเขียน ในรูปแบบการท่องจำเพื่อสอบแต่ไม่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาในการปรับปรุงหลักสูตรให้มากขึ้น ปรับหลักสูตรที่เน้นทักษะทางภาษาอังกฤษด้าน การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบตั้งแต่ระดับ อนุบาล จนถึงระดับมหาวิทยาลัย และเพิ่มเงินเดือนให้กับอาชีพอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพในระบบการศึกษาภายในประเทศ

นอกจากนั้น รัฐบาลอาจจะสร้างมาตรการพิเศษต่างๆ เพื่อการนี้ อาทิ การจูงใจชาวต่างประเทศที่เป็นเจ้าของภาษา ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้มาพำนักในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณอายุแล้ว เป็นครูอาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษโดยตรง หรือสอนบางวิชาเป็นภาษาอังกฤษ อันจะช่วยทำให้ต้นทุนการจ้างครูอาจารย์ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีต่ำลงมา เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษาได้อย่างกว้างขวางขึ้น

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.hamilton.co.nz/our-council/careers/currentvacancies/PublishingImages/Jobs.jpg