ดัชนีประสิทธิผลของปัญญาสมาพันธ์ กับนวัตกรรมไทยบนบริบทโลก

ในบทความครั้งที่แล้ว ผมได้เขียนถึงผลการสำรวจในภาพรวมของประสิทธิผลภาคเอกชน (Private Sector Effectiveness: PVE) ที่เป็นตัวชี้วัดด้านหนึ่งภายใต้ดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย หรือ Thailand Effectiveness Index (TE Index)

ภาคเอกชนในที่นี้ หมายถึง ธุรกิจเอกชนไทยหรือต่างชาติที่ดำเนินการในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร เช่น ร้านค้า สถานประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน

จากการอภิปรายผลดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน ประเด็นสำคัญ คือ ภาคเอกชนไม่ได้คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจในระยะยาวเท่าที่ควร กล่าวคือ ยังลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาไม่มากพอ และการคิดค้นหรือประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ บทความตอนนี้จึงจะลงลึกในประเด็นดังกล่าว

ดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน แบ่งตัวชี้วัดออกเป็น 3 หมวด คือ หมวดด้านการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หมวดความรับผิดชอบต่อสังคม และหมวดสถาบันภาคเอกชน ซึ่งหมวดสถาบันภาคเอกชนได้คะแนนต่ำสุด

ในหมวดสถาบันภาคเอกชนประกอบด้วย 4 ตัวชี้วัดย่อย ได้แก่ การเป็นผู้ประกอบการ ความเป็นสากล การสร้างนวัตกรรม และมาตรฐานการดำเนินการ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า การสร้างนวัตกรรมได้คะแนนเพียงร้อยละ 57.88 นับเป็นตัวแปรที่มีค่าดัชนีต่ำที่สุด

ผลการสำรวจดังกล่าวแสดงเห็นว่า ภาคธุรกิจไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม ซึ่งอาจเป็นเพราะการสร้างนวัตกรรมเป็นกิจกรรมที่ใช้ต้นทุนสูง ใช้ระยะเวลายาวนาน กว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับคืน และมีความเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม หรือไม่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค จึงทำให้ภาคธุรกิจไม่ลงทุนในด้านนี้ แม้จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวก็ตาม

ผลคะแนนดังกล่าวยังสอดคล้องกับตัวชี้วัดด้านการเป็นผู้ประกอบการที่มีค่าดัชนีใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 58.63 แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจไทยขาดความสามารถในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ และขาดการปรับตัวต่อสถานการณ์ทางธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจไทยจำนวนมากมีลักษณะเน้นการรับจ้างผลิต หรือการซื้อมาขายไป

ความอ่อนแอด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมของภาคธุรกิจไทย ที่สะท้อนจากดัชนีประสิทธิผลภาคเอกชน มีความสอดคล้องกับดัชนีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมอย่างน้อย 3 ดัชนีชี้วัดดังต่อไปนี้

ดัชนีความคิดสร้างสรรค์โลก (The Global Creativity Index) จัดทำโดย Martin Prosperity Institute เป็นดัชนีที่ใช้วัดความก้าวหน้าและความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนบนฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านความสามารถ (Talent) พิจารณาจากระดับความคิดสร้างสรรค์ การสำเร็จการศึกษา และความสามารถในระดับโลก (2) ด้านเทคโนโลยี (Technology) ประกอบไปด้วยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และ (3) ด้านการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น (Tolerance) ทั้งการยอมรับทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และการยอมรับความสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน

การจัดอันดับดัชนีความคิดสร้างสรรค์โลกในปี 2558 ไทยได้มีค่าดัชนี 0.365 อยู่ในอันดับที่ 82 จากทั้งหมด 139 ประเทศ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 9 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 52 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 63 รวมทั้งไทยยังอยู่ในอันดับต่ำกว่าเวียดนามที่ถูกจัดอันดับที่ 80 ของโลก

ดัชนีนวัตกรรมโลก (The Global Innovation Index) จัดทำโดย World Intellectual Property Organization ร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลและสถาบัน INSEAD เพื่อจัดอันดับผลการดำเนินงานด้านนวัตกรรมของ 141 ประเทศ/เศรษฐกิจทั่วโลก โดยใช้ตัวชี้วัดทั้งหมด 79 ตัว

ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2558 พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 55 ด้วยคะแนน 38.10 จาก 100 คะแนนและหากนับในกลุ่มอาเซียน ไทยอยู่ในลำดับที่ 4 เป็นรองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

ตัวชี้วัดทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Indicators) จัดทำขึ้นโดย World Intellectual Property Organization เพื่อรายงานผลการยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร (Patents) ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์/อนุสิทธิบัตร (Utility Models) เครื่องหมายการค้า (Trademarks) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Designs) และการคุ้มครองจุลชีวันและความหลากหลายของพันธุ์พืช (Microorganisms and Plant Variety Protection) ในระดับโลก

ตัวชี้วัดทรัพย์สินทางปัญญาโลก ระบุว่า ในปี 2557 ไทยมีการจดสิทธิบัตร 1,405 รายการ เครื่องหมายการค้า 33,890 รายการ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ 3,325 ชิ้น โดยทั้งหมดน้อยกว่าปี 2556 ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวโน้มของโลกที่จะมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี
ข้อมูลจากตัวชี้วัดทรัพย์สินทางปัญญาโลก สะท้อนว่า จำนวนการยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของไทยค่อนข้างเน้นไปในการจดเครื่องหมายการค้าและการออกแบบอุตสาหกรรม มากกว่าสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนแอด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคธุรกิจในประเทศ

ถึงแม้ว่าจำนวนการจดสิทธิบัตรของไทยเป็นรองเพียงสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่จำนวนการจดสิทธิบัตรยังห่างจาก 2 ประเทศนี้มาก ยิ่งไปกว่านั้นในจำนวนการยื่นจดสิทธิบัตร ไม่เพียงแต่สิทธิบัตรที่คนไทยเป็นเจ้าของเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิทธิบัตรที่คนต่างชาติเป็นเจ้าของด้วย

ผมคิดว่า ประเทศไทยควรมาถึงจุดที่ต้องตระหนักในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้แล้วว่า จะทำอย่างไรให้ไทยติดอันดับสูงของกลุ่มประเทศที่มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมถึงมีการจดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มมากขึ้น

ไม่เพียงภาคเอกชนเท่านั้นที่จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องส่งเสริมการประดิษฐ์และสร้างนวัตกรรม ร่วมกับการวิจัยและการพัฒนา เพื่อนำพาประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวสู่เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง แต่ทว่าภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนและความร่วมมือไปด้วยกัน
 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ