อารยปุจฉา : ถามเพื่อความสำเร็จ

ในการเรียนรู้ ถ้าผู้เรียนไม่เข้าใจ แต่ไม่กล้าถาม ย่อมเท่ากับ ?ปิดประตู? การพัฒนาตนเอง ในการทำงาน ถ้าเราไม่มั่นใจในคำสั่งงาน แต่ไม่กล้าถามหัวหน้า ย่อมเท่ากับ ?เปิดประตู? ความล้มเหลวรอไว้ให้กับตนเอง
     ในการสนทนา ถ้าเราฟังอย่างเดียว พยักหน้ารับทุกอย่าง แม้ไม่เห็นด้วยในสิ่งที่สื่อสาร แต่เรากลัวขัดจังหวะ ไม่กล้าถาม ย่อมเท่ากับ ?จบการสนทนา? ตั้งแต่วินาทีที่เราไม่เข้าใจแล้ว

     การสนทนาที่แท้จริง เมื่อฟังแล้ว ต้องคิดตาม ต้องเกิดข้อสงสัย และต้องตั้งคำถามเป็น 
     การถาม...ช่วยให้เราเข้าใจผู้พูด ตรงกับที่เขาต้องการสื่อสาร ไม่สรุปตามการตีความ ตามกรอบความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจของเรา
     การถาม...ช่วยให้ผู้พูดเกิดการฉุกคิด ในมุมมองที่อาจคิดไม่ถึง นำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ ความจริงใหม่ ปลดปล่อยจากความเชื่อที่ผิด ๆ ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
     การถามเป็นสิ่งที่ดี แต่การตั้งคำถามที่ดี คำถามที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ประวัติศาสตร์โลกได้พิสูจน์ว่า คำถามที่ดี นำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ 
บุคคลหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า ?กุญแจที่นำไปสู่ปัญญา คือ การรู้ว่าคำถามที่ถูกต้องทั้งหมดคืออะไร? 
     การตั้งคำถามสะท้อนวิธีคิดของเราว่า มองเหตุการณ์ได้ลึกซึ้งพียงใด เราคิดเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ อย่างไร ที่สำคัญ คำถามที่ดีและถูกต้องนำเราไปสู่เส้นทางแห่งปัญญา
     ดังนั้น หากเราต้องการประสบความสำเร็จ เราจึงควรเรียนรู้ อารยปุจฉา หรือ การถามอย่างอารยะ
     อารยปุจฉา คือ การตั้งคำถามสิ่งที่ฟัง โดยมีเกณฑ์ปรัชญาอารยะกำกับ เพื่อนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่กระจ่าง การค้นพบความจริง และการฉุกคิดในมุมมองที่แตกต่าง
      ถามเพื่อให้ ?กระจ่าง? ในความคิด เมื่อฟังสิ่งใด เราต้องให้เข้าใจตรงกับที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร ต้องไม่ด่วนสรุป ไม่ตีความโดยใช้กรอบความคิดของตนเอง ไม่เชื่อหรือคล้อยตามอะไรง่าย ๆ โดยยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน แต่พิจารณาอย่างรอบคอบว่า ในเรื่องที่เราฟังแล้ว ยังเกิดข้อสงสัย ไม่ชัดเจน ไม่มั่นใจว่าผู้พูดสื่อสารตรงกับที่เราตีความหรือไม่ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องถาม เพื่อความเข้าใจที่แจ่มชัด ต้องการความกระจ่าง
     การตั้งคำถามพื้นฐาน เช่น ?บอกมาให้มากกว่านี้อีก? ('tell me more') เพื่อนำไปสู่การค้นหา/ทำความเข้าใจที่ลึกขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนั้น แนวคำถาม  ?ที่คุณพูดมาหมายถึง...ผมเข้าใจถูกหรือไม่? ?ช่วยอธิบายประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ไหมครับ? ?เพราะเหตุใดคุณจึงกล่าวเช่นนั้น?? ?แท้จริงแล้ว เรื่องนี้มันหมายความว่าอย่างไร?? หรือ ?คุณสามารถยกตัวอย่างได้หรือไม่?? ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การค้นหา/ทำความเข้าใจที่ลึกขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนั้น 
     ถามเพื่อให้ ?ฉุกคิด? มุมตรงข้าม คำถามลักษณะนี้ เป็นการพยายามมองอีกมุมหนึ่ง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบว่า สิ่งที่เราฟังนั้นมันจริงหรือไม่  มันเป็นเช่นนั้นด้วยเหตุผลใด มันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็เป็นได้ เป็นการเขย่าสิ่งที่เขายึดมั่นว่าจริง / ถูกต้อง หรือคิดว่าต้องเป็นเช่นนั้น ช่วยให้เกิดการคิดในมุมที่แตกต่าง / ไม่เคยคิดมาก่อน   
     โดยตั้งคำถามเสมอว่า ?เพราะเหตุใดคุณจึงคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริง?? ?เป็นไปได้หรือไม่ ที่ข้อมูลนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน?? ?ถ้าคุณอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน จะตัดสินใจแบบเดียวกับเขาหรือไม่??  ? เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ มันดีอย่างที่เขาให้คุณค่าจริงหรือ?? ?ถ้าคิดว่า เรื่องนี้ถูกต้อง แล้วเรื่องนี้ล่ะ ทำไมตัดสินใจต่างกัน? ?ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งนี้ถูกต้อง แสดงว่าเราก็ไม่ได้ยึดมั่นในหลัก...ที่ยึดมั่นมาตลอดนี้แล้วหรือไม่?? เป็นต้น
     ถามเพื่อให้ ?เห็นภาพ? ผลที่ตามมา เป็นการถามเพื่อให้เกิดการคิดต่อ คาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้พูดอาจจะละเลยหากไมมีการตั้งคำถาม ดังนั้น เพื่อตรวจสอบว่า สิ่งที่เขาพูดนั้นมันเหมาะสมไหม การตัดสินใจนั้นจะส่งผลดีผลเสียอย่างไร อะไรที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้บ้าง และเราจะปรับหรือป้องกันอย่างไร เราจำเป็นต้องตั้งคำถามเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ต่อสิ่งที่จะตามมาในอนาคต เช่น มันสมเหตุสมผลไหม? อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป? แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป?  ถ้าเป็นเช่นนี้ อะไรจะเกิดขึ้นตามมา? สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อ...อย่างไร? เป็นต้น การตั้งคำถามเหล่านี้ ทำให้เรามองอนาคตในมุมมองที่ชัดเจนขึ้น
     ผมพูดเสมอว่า ?การมีความจริงใจอย่างเดียวเป็นสิ่งสำคัญแต่ไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องมีปัญญาในชีวิตด้วย?
     ในชีวิตประจำวันมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราฟังแล้ว ต้องคิด และต้องรู้จักที่จะตั้งคำถาม  ถ้าเราไม่รู้จักตั้งคำถาม อาจเท่ากับปิดกั้นความสำเร็จที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมไปอย่างน่าเสียดาย

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
Catagories: