พระอัจฉริยภาพด้านเศรษฐกิจของในหลวง รัชกาลที่ 9

     นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นประมุขแห่งประเทศไทย จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ณ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก พระราชกรณียกิจของพระองค์มีมากมายเหลือคณานับ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนและรับรู้ปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศด้วยพระองค์เอง ซึ่งทำให้พระองค์พบว่า ราษฎรส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรนั้น ล้วนยากจน ผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ อันเนื่องจากความแห้งแล้ง ขาดแคลนพื้นที่ทำกิน อีกทั้งขาดแคลนความรู้ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ให้มีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พระองค์จึงได้ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,000 โครงการ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้พ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านเศรษฐกิจของพระองค์อย่างชัดเจน


     พระองค์ทรงปลดแอกความจน ด้วยการสอนคนให้จับปลา
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชบายว่า "การที่จะแจกสิ่งของหรือเงินแก่ราษฎรนั้น เป็นการช่วยเหลือชั่วคราว ไม่ยั่งยืน การที่จะให้ประชาชนอยู่รอดได้ก็คือ การให้อาชีพ" วิธีปลดแอกให้พ้นจนของพระองค์ จึงเป็นการสอนคนให้จับปลา ไม่ใช่การจับปลามาแจกคน
     การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ จึงเริ่มจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในระยะยาว อาทิ การปรับปรุงก่อสร้างถนนเพื่อให้สัญจรไปมาได้สะดวกและทั่วถึง การติดต่อสื่อสาร การพัฒนาแหล่งน้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน การส่งเสริมราษฎรในท้องถิ่นให้มีความรู้ ความเข้าใจในการประกอบอาชีพ รวมทั้งให้รู้จักนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เมื่อราษฎรได้รับโอกาสที่จะดำรงชีวิตแบบพ้นจนแล้ว ขั้นต่อไปจึงพัฒนาให้พวกเขาสามารถ "พึ่งตนเอง" ได้ในที่สุด
     ตัวอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เน้นหลัก "การพึ่งตนเอง" เพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎร เช่น โครงการธนาคารข้าว และโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ "หุบกระพง" อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยทำกิน และรวมตัวกันในรูปของกลุ่มสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนและการทำมาหากินร่วมกัน เป็นต้น 
     พระองค์ทรงเป็นต้นแบบ ?เศรษฐกิจฐานความรู้? และ ?เศรษฐกิจฐานปัญญา?
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นต้นแบบเศรษฐกิจที่ใช้ ?ความรู้? และ ?ปัญญา? เป็นฐานในการพัฒนา โดยการพัฒนาบนฐาน ?ความรู้? นั้น พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้า ทรงทดลอง ทรงทำวิจัย ทรงนำความรู้ทางสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกสาขาวิชามาใช้ เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังทรงคิดค้นเทคนิควิธีหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ โครงการ ?ฝนหลวง? แนวพระราชดำริการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ?ทฤษฏีใหม่? แนวพระราชดำริการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด ?แกล้งดิน? แนวพระราชดำริการป้องกันการเสื่อมโทรมและการพังทลายของดินโดย ?หญ้าแฝก? แนวพระราชดำริการปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก แนวพระราชดำริ ?ป่าเปียก? เพื่อความชุ่มชื้นของดินและเป็นแนวป้องกันไฟป่า และแนวพระราชดำริพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ ?ฝายชะลอความชุ่มชื้น? เป็นต้น
     ไม่เพียงแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างเศรษฐกิจบนฐานความรู้ แต่พระองค์ยังทรงพัฒนาบนฐาน ?ปัญญา? ด้วย โดยทรงประยุกต์ความรู้ได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละบริบท แต่ละพื้นที่ ทรงยึดหลัก ?เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา? และยึดหลัก ?ภูมิสังคม? คือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสภาพภูมิสังคมของคนในพื้นที่นั้น ๆ และดำเนินการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ส่งผลให้การพัฒนาเหมาะสม เป็นองค์รวม โดยบูรณาการทั้งสภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้อย่างครบวงจร โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน 
 
     ตัวอย่างเช่น โครงการเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นที่สูง เป็นโครงการตามพระราชดำริเกี่ยวกับการผลิตการบริโภคและการกระจายผลผลิต โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาพื้นฐานของชุมชน มุ่งเน้นให้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ โดยใช้ ?ทุนของชุมชน? ทั้งทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางสังคมเป็นฐาน สมาชิกในชุมชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าจะผลิตอะไรจึงเหมาะสม เพื่อให้พึ่งตนเองได้ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม พร้อมกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมด้วย เป็นต้น
ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์ทรงสละทรัพยากรอันมีค่า ไม่ว่าจะเป็นพระสติปัญญา เวลา ทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อทำสงครามกับความยากจนและช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี พระองค์ได้ทรงสำแดงพระอัจฉริยภาพให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ทรงเป็นสอนประชาชนให้พึ่งตนเอง และทรงเป็นต้นแบบด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศด้วยการใช้ ?ความรู้? และ ?ปัญญา? เพื่อขจัดปัดเป่าความจนและมุ่งนำประเทศสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืน ดังนั้นถึงแม้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัยไปแล้ว แต่พระราชกรณียกิจของพระองค์ยังคงอยู่ในใจของคนไทยไปอีกนานแสนนาน
 
ภาพที่ 1 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชน
 
ภาพที่ 2 โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี
 
ภาพที่ 3 ทรงริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาความ แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ ในการเกษตร
 
ภาพที่ 4 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่ม ?การเกษตรทฤษฎีใหม่? เพื่อพัฒนาการเกษตรให้เกิดยั่งยืน

ที่มาของภาพ
 
*ปรับปรุงจาก เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2555). พระอัจฉริยภาพด้านเศรษฐกิจ: เศรษฐกิจการพัฒนาประเทศ. ใน เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (บ.ก.). (2555). ตามรอยพระเจ้าอยู่หัว (น.13-18). กรุงเทพฯ: บริษัทซัคเซส มีเดีย จำกัด.
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com http://www.kriengsak.com

 

แหล่งที่มาของภาพ